ใน ,

10 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

หลายคนอาจจะเข้าใจว่ารถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ให้ความประหยัดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีหลายสิ่งที่เราควรทราบก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อพิจารณาว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นเหมาะกับการใช้งานของเราจริง ๆ หรือไม่

10 สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

1. ระยะทางต่อการชาร์จ

รถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) จะมาพร้อมแบตเตอรี่ความจุประมาณ 50 – 100 kWh สามารถวิ่งได้สูงสุดประมาณ​400-600 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งตัวเลขระยะทางที่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าเคลมว่าวิ่งได้ไกลสูงสุดนั้น ในการใช้งานจริงอาจจะวิ่งได้ไม่ถึงตามตัวเลขที่แบรนด์ระบุไว้ เนื่องจากหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิแวดล้อม อุณหภูมิแบตเตอรี่ สภาพถนน ความชัน ความจุแบตเตอรี่สูงสุด เป็นต้น

นอกจากนี้ ระยะทางสูงสุดที่แบรนด์ระบุไว้ก็ระบุตามมาตรฐานระยะทางที่แตกต่างกัน ได้แก่ NEDC, WLTP, CLTC และ EPA ซึ่งมาตรฐานเเหล่านี้มาจากการทดสอบที่แตกต่างกัน ความแม่นยำของระยะทางที่วิ่งได้จริงก็อาจจะน้อยกว่าหรือเท่ากับที่เคลมไว้ แตกต่างกันไป ซึ่งเราอาจจะต้องศึกษาในกลุ่มของผู้ใช้งานจริง

ดังนั้น เวลาที่เราพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก็ควรจะดูเรื่องของระยะทางที่รถวิ่งได้จริงด้วย โดยพิจารณาว่าการเดินทางในชีวิตประจำวันของเราเฉลี่ยวันละกี่กิโลเมตร เดินทางไกลบ่อยหรือไม่ และดูว่าระยะทางรถยนต์ไฟฟ้าที่เราจะเลือกซื้อเพียงพอต่อการใช้งานหรือเหมาะสมกับการเดินทางของเราหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเรื่องการแวะชาร์จร่วมด้วย (อยู่ในหัวข้ออื่น ๆ)

2. การเข้าถึงสถานีชาร์จ

ความพร้อมของสถานีชาร์จเป็นปัจจัยสำคัญ สำหรับการพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าหากเราเป็นคนที่ต้องเดินทางไกลบ่อยหรือที่พักไม่มีเครื่องชาร์จที่บ้าน เช่น คอนโด อพาร์ตเมนต์ เราก็ควรตรวจสอบพื้นที่หรือเส้นทางที่เราเดินทางด้วยว่าสถานีชาร์จครอบคลุมต่อเส้นทางการเดินทางของเราหรือไม่

ปัจจุบันสถานีชาร์จในประเทศไทย เริ่มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในเส้นทางการเดินทางหลัก ทำให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเลือกชาร์จได้สะดวกมากขึ้น แต่ในเส้นทางห่างไกล จุดชาร์จก็อาจจะยังไม่ทั่วถึง ดังนั้นควรสำรวจพื้นที่และเส้นทางที่เราต้องเดินทางให้ดีกว่ามีจุดชาร์จหรือไม่

3. ระยะเวลาในการชาร์จ

ระยะเวลาในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอาจแตกต่างกัน มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความเร็วในการชาร์จ ส่ิงสำคัญที่สุดคือ การจ่ายพลังงานของเครื่องชาร์จ การชาร์จสูงสุดของรถ และความจุแบตเตอรี่ แน่นอนว่ายิ่งแบตเตอรี่ใหญ่ ก็อาจจะส่งผลให้การชาร์จนาน แต่ถ้าการชาร์จสูงสุดของรถสูงและเลือกเครื่องชาร์จที่จ่ายพลังงานสูง ระยะเวลาการชาร์จก็จะเร็ว

สิ่งที่เราสามารถรู้ได้ทันทีรถชาร์จเร็วหรือไม่ คือ บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ามักจะเคลมระยะเวลาการชาร์จเร็ว DC และชาร์จ AC ไว้ว่า ชาร์จเร็ว DC จาก 10%-80% หรือ 30%-80% ในเวลากี่นาที ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเคลมไว้ที่ประมาณ ​20-30 นาที ซึ่งการชาร์จ DC นั้นจะเป็นการชาร์จในสถานีบริการ

การชาร์จเร็ว DC จะเร็วหรือช้ายังขึ้นอยู่กับเครื่องชาร์จและการรับกำลังไฟของรถยนต์ไฟฟ้าของเราด้วย เช่น รถยนต์ไฟฟ้าของเรา มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ รับกำลังไฟสูงสุดที่ 250 kW เมื่อชาร์จกับเครื่องชาร์จ DC กำลังการจ่ายไฟ 150 kW ระยะเวลาในการชาร์จจาก 30%-80% ก็อาจจะใช้เวลานานกว่าที่บริษัทเคลมไว้ อาจจะต้องเช็คปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ดี ๆ

ดังนั้นถ้าหากเราค่อนข้างซีเรียสกับระยะเวลาการชาร์จ ก็ควรพิจารณาว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เราจะซื้อ นั้นมีแบตเตอรี่ขนาดเท่าไหร่และรับกำลังไฟสูงสุดได้ที่เท่าไหร่ รวมถึงเครื่องชาร์จ DC ที่จ่ายกำลังไฟเหมาะสมกับรถที่เราเลือกนั้นมีอยู่ในเส้นทางที่เราใช้งานหรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องระยะเวลาในการชาร์จมากมาย ก็ควรทราบไว้ว่า การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว DC อาจใช้เวลาประมาณ 20-50 นาที

ส่วนการชาร์จ AC คือการชาร์จกระแสสลับ หลัก ๆ คือการชาร์จที่บ้าน หรือสถานีชาร์จบางแห่งก็มีตู้ชาร์จ AC ให้ การชาร์จ AC จะใช้เวลาการชาร์จนานกว่าแบบชาร์จเร็ว DC โดยบริษัทรถยนต์จะเคลมว่าชาร์จจาก 0%- 100% ในเวลากี่ชม. ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 7-16 ชม. ขึ้นอยู่กับกำลังการจ่ายไฟของเครื่องชาร์จ

4. อายุการใช้งานแบตเตอรี่

แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบรถที่มีราคาแพงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า ในปัจจุบันแบตเตอรี่ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานที่ประมาณ 150,000 – 300,000 กม. และความจุแบตเตอรี่อาจลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือ เงื่อนไขการรับประกันแบตเตอรี่และนโยบายการเปลี่ยนแบตเตอรี่ของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันจะเสนอการรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปีขึ้นไป หรือมีระยะทางสูงสุดที่ 150,000 กม. ขึ้นไป อาจจะต้องพิจารณาว่าเรารับเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่

5. การติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน

สำหรับคนที่มีบ้าน แน่นอนว่าถ้าหากซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว ก็จะต้องชาร์จไฟที่บ้านเป็นหลัก สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงก็คือ การติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้าน บางแบรนด์ก็ไม่แถม แต่อาจจะคิดเป็นแพ็กเกจเครื่องชาร์จพร้อมติดตั้ง บางแบรนด์แถมเครื่องชาร์จ แต่อาจจะไม่รวมค่าติดตั้ง

ควรสอบถามรายละเอียดกับแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่เราสนใจก่อนว่า เงื่อนไขการติดตั้งเครื่องชาร์จเป็นอย่างไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งประมาณเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟเพิ่มหรือ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากแพ็กเกจ เพื่อให้ทราบว่าเราจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่

6. ประสบการณ์การขับขี่

รถยนต์ไฟฟ้าให้ประสบการณ์การขับขี่ที่แตกต่างจากรถยนต์น้ำมัน โดยทั่วไปแล้วจะเงียบกว่า เนื่องจากไม่มีเครื่องยนต์สันดาป และมีแรงบิดที่รวดเร็ว ทำให้การเร่งความเร็วทำได้ทันที

ในความเห็นของหลาย ๆ  น ระบุว่า รถยนต์ไฟฟ้าขับขี่สบายและตอนสนองได้ดี โดยเฉพาะการขับขี่ในเมือง นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง จึงช่วยยกระดับประสบการณ์การขับขี่ที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนที่เราจะเลือกซื้อ ก็อาจจะต้องไปลอง Test Drive ทดลองขับรุ่นที่เราสนใจว่าตอบสนองความต้องการของเราหรือไม่ หรือถ้าหากต้องการทดลองในระยะเวลาหนึ่ง ก็อาจจะลองเช่ารถยนต์ไฟฟ้ากับผู้ให้บริการ เช่น EVme

7. ศูนย์บริการและบริการหลังการขาย

รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยไม่กี่ปี และส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์ใหม่จากต่างประเทศ ดังนั้นเราอาจจะต้องพิจารณาถึงศูนย์บริการว่าครอบคลุมหรือไม่ อยู่ใกล้บริเวณที่เราอยู่อาศัยหรือไม่ การเดินทางไปยังศูนย์บริการสะดวกหรือไม่

รวมถึงการบริการหลังการขาย ก็ถือเป็นส่วนสำคัญมาก ๆ ต้องศึกษาดูจากกลุ่มผู้ใช้แต่ละแบรนด์ว่า เมื่อรถมีปัญหา บริษัทรถยนต์สามารถช่วยเหลือหรือให้บริการได้ดีหรือไม่ การขอความช่วยเหลือสะดวกหรือไม่ ซ่อมนานหรือรออะไหล่นานหรือไม่ เรื่องเหล่านี้เราควรจะสอบถามหรือศึกษาในกลุ่มผู้ใช้รถ

8. ประกันและการบำรุงรักษา

ส่ิงที่หลายคนกังวลก็คือ หลังซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้วจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านประกันภัยและค่าบำรุงรักษาตามมา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอาจจะสูงกว่ารถยนต์สันดาปที่เคยใช้มาก

ควรศึกษาดูว่า รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นมีค่าใช้จ่ายในการทำประกันเท่าไหร่ บางรุ่นก็ราคาใกล้เคียงกับรถยนต์น้ำมัน แต่บางรุ่นก็อาจจะมีราคาประกันที่สูง ควรพิจารณาว่าเราสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ปีละเท่าไหร่

ส่วนด้านการบำรุงรักษา รถบางแบรนด์ก็มีการนัดเข้ารับบริการเช็คระยะคล้ายกับรถยนต์น้ำมัน เงื่อนไขค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยแตกต่างกันไป อาจจะลองสอบถามแผนการบำรุงรักษาจากบริษัทรถยนต์เพื่อเป็นข้อมูลก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

9. ราคาและโปรโมชัน

แรงจูงใจในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ส่วนลดหรือเครดิตภาษีเท่านั้น แต่ยังมีสิทธิประโยชน์อีกมากมายที่ทำให้การซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่เอื้อมถึงได้

ในประเทศไทย รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในโครงการ EV 3.5 ซึ่งในปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 – 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขราคารถและความจุแบตเตอรี่ และลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกิน 40% รวมถึงลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เหลือ 2% ในปี 2567 – 2570 จึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้าราคาลดลงจากราคาเต็ม

นอกจากนี้ แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างก็จัดโปรโมชันแคมเปญในแต่ละเดือนหรือแต่ละไตรมาส ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด เงินคืน ของแถม เช่น ฟิล์มกระจก เครื่องชาร์จที่บ้านพร้อมติดตั้ง การเลือกสีฟรี เป็นต้น ทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น

10. มูลค่าการขายต่อ

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมูลค่าการขายต่อก็แตกต่างกันไป โดยรถรุ่นใหม่ที่มีระยะทางวิ่งไกลจะมีมูลค่าที่ดีกว่า ถ้าหากเราเป็นคนที่ใช้รถยนต์ไม่นานและชอบอัปเกรดเปลี่ยนรุ่นใหม่ ก็อาจจะต้องพิจารณซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่แบรนด์มีชื่อเสียง เทคโนโลยีทันสมัย เชื่อถือได้ และราคาในตลาดมือสองไม่ตกมากนัก

อย่างไรก็ตาม แบรนด์ที่มีชื่อเสียงก็อาจจะไม่ได้การันตีว่าราคาจะไม่ตกมาก อย่าลืมว่าตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าและวิวัฒนาการของเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะต้องเตรียมใจไว้ส่วนหนึ่งว่า ยังไงซะราคารถยนต์ก็ต้องตกอยู่แล้ว ใช้ให้คุ้มจะดีกว่า

สำหรับใครที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ก็ลองนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณาในการเลือกซื้อได้ เพื่อให้เราได้รถยนต์ใช้งานที่ตรงใจและคุ้มค่ากับเรามากที่สุด

ที่มา powy เรียบเรียงโดย iMoD

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.