วงการยานยนต์จีนกำลังเปลี่ยนทิศทางการสื่อสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติอย่างชัดเจน จากเดิมที่เคยโปรโมตในชื่อ “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” (Autonomous Driving) ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้คำที่แม่นยำและรัดกุมยิ่งขึ้นอย่าง “ระบบช่วยขับขี่” (Assisted Driving) เพื่อตอบสนองต่อการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยที่เข้มข้นขึ้นจากภาครัฐ
จีนดับฝัน “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” ในรถ EV ลดขั้นเหลือ “ผู้ช่วยขับขี่” แทน หลังจากกฎเกณฑ์ในจีนเริ่มเข้มงวดขึ้น
ในโชว์รูมรถยนต์ทั่วประเทศจีน ณ ตอนนี้ตัวแทนจำหน่ายรถ NEV ได้เริ่มอธิบายระบบเหล่านี้ว่าเป็น “ระบบช่วยขับขี่ระดับ L2” แทน พร้อมเน้นย้ำว่าผู้ขับขี่ยังคงต้องมีสมาธิอยู่ตลอดเวลา ระหว่างช่วงวันหยุดยาว วันแรงงานในเดือนพฤษภาคม 2025 ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) หลายแบรนด์ได้ลดขั้นสำหรับการโปรโมตคุณสมบัติการขับขี่อัตโนมัติ หันมาเน้นจุดขายด้านความสบายของการโดยสาร พื้นที่ภายใน และระบบอินโฟเทนเมนต์แทน
การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับแนวทางใหม่จาก กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ที่ออกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2025 ที่ได้ห้ามไม่ให้ผู้ผลิตใช้คำที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับระบบขับขี่อัตโนมัติ และต้องเปิดเผยข้อจำกัดของระบบอย่างชัดเจน
แนวทางดังกล่าวมีขึ้นหลังเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2025 ที่เป็นเหตุทำให้นักศึกษา 3 คนเสียชีวิตจากการชนของ Xiaomi SU7 ที่ใช้โหมด Navigation on Autopilot ข้อมูลจากระบบแสดงว่ารถชนกันที่ความเร็ว 97 กม./ชม. หลังจากระบบเตือนผู้ขับขี่แล้วแต่ไม่มีการตอบสนอง
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว Xiaomi ได้ปรับคำนิยามใหม่ จากคำว่า “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” บนหน้าเว็บสั่งซื้อ SU7 ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “ระบบช่วยขับขี่” ระบบ Xiaomi Pilot Pro ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Xiaomi Assisted Driving Pro ขณะที่ระบบ HAD ถูกเรียกว่า “End-to-End Assisted Driving” โดยข้อมูลในเอกสารทางการเน้นว่า ระบบนี้ออกแบบมาสำหรับการขับขี่บนทางหลวง
นอกจากนี้ ผู้ผลิตบางรายยังเริ่มเสนอประกันเสริม เช่น XPENG ที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ “ประกัน ADAS” สำหรับครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดจากระบบช่วยขับขี่ ขณะที่ Huawei ยังคงโปรโมตฟีเจอร์ ADS ในรถอย่าง Aito M9 ก็ได้เพิ่มคำเตือนชัดเจนว่า “ระบบนี้เป็นเพียงตัวช่วยผู้ขับขี่ ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ”
ภายในงาน Shanghai Auto Show 2025 ผู้บริหารจากหลายแบรนด์ออกมายอมรับว่าอุตสาหกรรมต้องมีการสื่อสารที่โปร่งใส ที่สำคัญต้องแม่นยำมากขึ้น Yu Chengdong จาก Huawei ย้ำว่าผู้ขับขี่ต้องมีสมาธิอยู่เสมอ
ส่วน He Xiaopeng จาก XPENG ก็หยุดใช้คำว่า “ระบบขับขี่อัตโนมัติ” และหันมาใช้คำว่า “ระบบช่วยขับขี่อัจฉริยะ” (Intelligent Assisted Driving) แทน ขณะที่ผู้บริหารจาก Changan และ GAC ก็เน้นว่า ระบบของพวกเขาทั้งหมดยังอยู่ในขอบเขตของ ระดับ L2 เท่านั้น
ครั้งนี้ถือเป็นการละเว้นคำที่คลุมเครืออย่าง “Autonomous Driving” (ระบบขับขี่อัตโนมัติ) ถือเป็นสัญญาณว่าอุตสาหกรรมได้เริ่มระมัดระวัง และได้อยู่ภายใต้การควบคุมที่มากขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์กำลังเผชิญแรงกดดันให้เปิดเผยขีดจำกัดของระบบอย่างตรงไปตรงมา และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมใน SU7 ที่ยังคงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในวงการนั่นเองครับ
ที่มา : Carnewschina