ใน

กฟภ. ประกาศยกเลิกขอมิเตอร์ไฟฟ้าเครื่องที่ 2 สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

กฟภ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกประกาศยกเลิกหลักเกณฑ์การขอติดตั้งมอเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก

กฟภ. ประกาศยกเลิกขอมิเตอร์ไฟฟ้าเครื่องที่ 2 สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ก่อนหน้านี้ กฟภ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้เปิดให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถขอมิเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เฉพาะผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็ก โดยไม่มีวัตถุประสงค์ใช้เพื่อการพาณิชย์

แต่ช่วงหลังทาง กฟภ. พบว่า มีผู้ใช้บางรายใช้ไฟฟ้าผ่านมิเตอร์เครื่องที่ 2 เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ไม่ได้ใช้สำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า วันที่ 19 ก.ค. 2567 ทาง กฟภ. จึงได้ออกประกาศยกเลิกหลักเกณฑ์การขอติดตั้งมอเตอร์เครื่องที่ 2 สำหรับการชาร์นรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

  • อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ได้ยื่นคำร้องขอมิเตอร์เครื่องที่ 2 กับทาง กฟภ. หรือได้ติดตั้งมิเตอร์เครื่องที่ 2 ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับ ก็ยังคงสามารถใช้หลักเกณฑ์เดิมต่อไป
  • ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะไม่สามารถขอมิเตอร์ลูกที่ 2 แยกสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเป็นผู้ที่ยื่นคำขอหลังจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่หรือต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จใหม่
  • ส่วนผู้ใช้ใดที่ติดตั้งมิเตอร์เครื่องที่ 2 ไปแล้ว แต่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ ฝ่าฝืนตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระเบียบหลักเกณฑ์ ทาง กฟภ. จะยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับมิเตอร์เครื่องที่ 2 (ถูกยกมิเตอร์คืน)

หากขอมิเตอร์เครื่องที่ 2 ไม่ได้ จะต้องทำอย่างไรบ้าง

หลังจากวันที่ 1 กันยายน 2567 เริ่มมีผลบังคับใช้ ผู้ที่ต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จะสามารถใช้มิเตอร์ไฟฟ้าหลักเพียงมิเตอร์เดียว แต่อาจจะต้องขยายมิเตอร์ (เป็น 3 เฟส ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม) เพื่อให้เพียงพอต่อการจ่ายไฟให้กับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

และต้องตัดสินใจว่าจะขอใช้อัตรา TOU หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากใช้อัตรา TOU การคำนวณค่าไฟก็จะถูกคำนวณตามอัตรา TOU ที่มีช่วงเวลา Off-Peak และ On-Peak ทั้งบ้าน หรือถ้าไม่เลือกใช้อัตรา TOU ค่าไฟทั้งบ้านก็จะถูกคำนวณเป็นแบบขั้นบันไดปกติ

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.