ใน ,

Xiaomi เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าจากปีก่อน เป็น 6.5 พันล้านหยวน

เสียวหมี่ คอร์เปอเรชัน หรือ Xiaomi บริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะด้วยการเป็นผู้นำด้านสมาร์ทโฟนและสมาร์ทฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ดังนี้

Xiaomi เผยกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าจากปีก่อน เป็น 6.5 พันล้านหยวน ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตรถ EV 1

Xiaomi มีรายรับรายไตรมาสเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ในช่วงเวลาดังกล่าว รายรับรวมของกลุ่มธุรกิจ อยู่ที่ 75.5 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วทำสถิติสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 100.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 6.5 พันล้านหยวน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV) และโครงการริเริ่มใหม่อื่นๆ จำนวน 2.3 พันล้านหยวน

นับเป็นการส่งสัญญาณการเติบโตที่รวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการดำเนินการตามกลยุทธ์การดำเนินงานหลักที่ “มุ่งเน้นทั้งในด้านขนาดและความสามารถในการทำกำไรควบคู่กัน” อย่างมีประสิทธิภาพ

ในไตรมาส 1 ปี 2567 อัตรากำไรขั้นต้นของ Xiaomi ในระดับกลุ่มธุรกิจสูงถึง 22.3% เพิ่มขึ้น 2.8 จุดเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า กลุ่มธุรกิจดำเนินการตามกลยุทธ์การดำเนินงานอย่างเต็มกำลังความสามารถจนสามารถผลักดันการเติบโตของรายรับเป็นเลขสองหลักในไตรมาส 1 ในธุรกิจหลัก 3 ประเภท ได้แก่ สมาร์ทโฟน ผลิตภัณฑ์ IoT และไลฟ์สไตล์ รวมถึงบริการอินเทอร์เน็ต แรงขับเคลื่อนการเติบโตหลายประการของ Xiaomi ผนวกกับประสิทธิภาพที่แข็งแกร่งของธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV) ได้ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก

ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจหลักของ Xiaomi ยังคงความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยมีทรัพยากรเงินสดเป็นจำนวนมากทำให้เอื้อต่อการสนับสนุนที่แข็งแกร่งในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการพัฒนาธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV)

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 ทรัพยากรเงินสดของกลุ่มธุรกิจมีมูลค่าถึง 127.3 พันล้านหยวน ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในไตรมาส 1 อยู่ที่ 5.2 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีในด้านรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV)

กลยุทธ์สินค้าและบริการในกลุ่มพรีเมียม (Premiumization) ส่งผลให้ราคาขายเฉลี่ย (ASP) ของสมาร์ทโฟนพุ่งสูงขึ้น

ด้วยแรงผลักดันจากกลยุทธ์ “Globalization” และ “Premiumization” ส่งผลให้ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกของ Xiaomi เพิ่มขึ้น 33.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 40.6 ล้านเครื่องในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการเติบโตจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม รายรับจากธุรกิจสมาร์ทโฟนเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สี่โดยแตะ 46.5 พันล้านหยวน

จากข้อมูลของ Canalys บริษัท Xiaomi คงรักษาอันดับยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกสูงสุดหนึ่งในสามอันดับแรกติดต่อกัน 15 ไตรมาส โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 13.8% ในไตรมาส 1

ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสมาร์ทโฟนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1 อยู่ที่ 14.8% เพิ่มขึ้น 3.6 จุดเปอร์เซนต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า กลุ่มธุรกิจยังคงมุ่งสู่สินค้ากลุ่มราคาพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของบุคคลที่สาม ส่วนแบ่งการตลาดของ Xiaomi ในการขายสมาร์ทโฟนในกลุ่มราคา 5,000 ถึง 6,000 หยวนในจีนแผ่นดินใหญ่สูงถึง 10.1% ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเพิ่มขึ้น 5.8 จุดเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ สัดส่วนยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมทั่วโลกของ Xiaomi ยังแตะระดับสูงสุดใหม่ในไตรมาส 1 โดยคิดเป็น 21.7% ของยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 1.4 จุดเปอร์เซ็นต์ จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

การขยายตัวในระดับโลกของ Xiaomi ส่งผลดี ด้วยการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดสำคัญๆ ทั่วทั้งตะวันออกกลาง ละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลของ Canalys ในไตรมาส 1 ปี 2567 ยอดจัดส่งสมาร์ทโฟน ของกลุ่มธุรกิจติดอันดับหนึ่งในสามอันดับแรกใน 56 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก และเป็นหนึ่งในห้าอันดับแรกใน 67 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก

เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว Xiaomi ติดอันดับหนึ่งในสามอันดับแรกในตลาด 51 แห่ง และหนึ่งในห้าอันดับแรกในตลาด 65 แห่ง ความได้เปรียบทางการแข่งขันของกลุ่มธุรกิจในตลาดเหล่านี้จึงมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อัตรากำไรของธุรกิจ IoT ทำสถิติสูงสุดด้วยยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตอันแข็งแกร่ง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ยอดขายผลิตภัณฑ์ IoT และไลฟ์สไตล์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายรับเพิ่มขึ้น 21.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 20.4 พันล้านหยวน อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นถึง 4.1 จุดเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 19.9% ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย Xiaomi ยังคงมุ่งมั่นผสานความเป็นผู้นำในหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ IoT ต่อไป

ด้วยชื่อเสียงในท้องตลาด ทั้งยังมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการมอบประสบการณ์ผู้ใช้ที่ยอดเยี่ยมภายในระบบนิเวศอัจฉริยะ รายรับของ Xiaomi จากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะขนาดใหญ่จึงเพิ่มขึ้นกว่า 46% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยปริมาณการขายยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในระหว่างไตรมาสดังกล่าว ยอดจัดส่งเครื่องปรับอากาศสูงขึ้นกว่า 690,000 เครื่อง เพิ่มขึ้น 63%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ยอดจัดส่งตู้เย็นสูงขึ้นกว่า 530,000 เครื่อง เพิ่มขึ้น 52% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และยอดจัดส่งเครื่องซักผ้าสูงขึ้นกว่า 360,000 เครื่อง เพิ่มขึ้น 47% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโทรทัศน์พรีเมียมของ Xiaomi ยังคงได้รับการอัปเกรดอย่างต่อเนื่อง

ทิศทางการเติบโตของผลิตภัณฑ์ทุกประเภทยังคงแข็งแกร่ง จากข้อมูลของ IDC ยอดจัดส่งแท็บเล็ตของ Xiaomi ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 93% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ Xiaomi ยังได้สร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านอุปกรณ์สวมใส่อีกด้วย จากข้อมูลของ Canalys ยอดจัดส่งหูฟังเอียร์บัด TWS อยู่ในอันดับที่ 1 ในจีนแผ่นดินใหญ่ และก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ทั่วโลก

บริการอินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทั่วโลก

ในช่วงเวลาดังกล่าว บริการอินเทอร์เน็ตยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีรายรับแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตรากำไรขั้นต้นของบริการอินเทอร์เน็ตสูงถึง 74.2% จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนของกลุ่มธุรกิจทั่วโลกและในจีนแผ่นดินใหญ่ต่างทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โดยในเดือนมีนาคม 2567 จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนทั่วโลกแตะ 658.1 ล้าน เพิ่มขึ้น 10.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนในจีนแผ่นดินใหญ่แตะ 160.4 ล้าน เพิ่มขึ้น 9.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ Xiaomi ยังเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลกอย่างแข็งขัน โดยในไตรมาส 1 รายรับจากบริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศสูงถึง 2.5 พันล้านหยวน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์และคิดเป็น 31.2% ของรายรับจากบริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด

ปรับขนาดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV) เพื่อตั้งเป้าส่งมอบรถยนต์ใหม่กว่า 100,000 คันในปี 2567

การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV) ของ Xiaomi ได้จุดประกายความกระตือรือร้นอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ และกลายเป็นกลไกใหม่ที่ก่อให้เกิดการเติบโต รถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะรุ่นแรกของเ Xiaomi คือ Xiaomi SU7 Series เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 นับเป็นการเติมเต็มกลยุทธ์แบบ “คน × รถยนต์ × บ้าน” (“Human × Car × Home”) ของกลุ่มธุรกิจ

โดย Xiaomi SU7 Series ได้รับการวางสถานะให้เป็น “รถซีดานขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงนิเวศประสิทธิภาพสูง” มีทั้งหมดสามรุ่น ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 215,900 หยวน การเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้รับความสนใจจากตลาดอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดยอดสั่งซื้อจำนวนมาก

ณ วันที่ 30 เมษายน ยอดสั่งซื้อสะสมของ Xiaomi SU7 Series มีจำนวนถึง 88,063 คัน และเมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาปักกิ่งของวันที่ 15 พฤษภาคม มียอดส่งมอบสะสมถึง 10,000 คัน ซึ่งนับเป็นการสร้างสถิติใหม่ในอุตสาหกรรมในด้านความรวดเร็วในการจัดส่งรถยนต์แบนรด์ใหม่ที่เปิดตัวครั้งแรก

ด้วยยอดขายที่โดดเด่นของ Xiaomi SU7 Series ซึ่งเกินความคาดหมายของตลาด กลุ่มธุรกิจจึงได้ตั้งเป้าในการส่งมอบรถยนต์ใหม่มากกว่า 100,000 คันในปี 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในขีดความสามารถในการแข่งขันและกำลังการผลิตของรถยนต์ซีรีส์นี้ Xiaomi พยายามขยายกำลังการผลิตโดยเริ่มการผลิตแบบสองกะในเดือนมิถุนายนเพื่อให้แน่ใจว่ามีการส่งมอบผลิตภัณฑ์ตรงเวลา และเป็นการขยายเครือข่ายการขายและการบริการ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจยังวางแผนว่าจะมีเครือข่ายการขายครอบคลุม 219 แห่ง ใน 46 เมือง และศูนย์บริการครอบคลุม 143 แห่งใน 86 เมือง ภายในสิ้นปี 2567

ในฐานะบริษัทด้านเทคโนโลยี (Tech Company) ที่เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ Xiaomi ตั้งเป้าที่จะรวบรวมคุณสมบัติอัจฉริยะเข้าด้วยกัน กลุ่มธุรกิจมีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ต่อเป้าหมายใหม่ในปี 2563-2573 นั่นคือการลงทุนในเทคโนโลยีหลักที่เป็นรากฐาน และการก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

ในไตรมาส 1 ปี 2567 ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 5.2 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดย Xiaomi มีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาเทคโนโลยีอันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง

ในด้านการพัฒนา Xiaomi Pilot Autonomous Driving บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการควบคุมเฟรมเวิร์กขั้นสูงที่รวมอัลกอริทึมอันล้ำสมัย เช่น Road-Mapping Foundational Model, Super-Res Occupancy Network Technology และ Adaptive BEV Technology

นอกจากนี้ Xiaomi ยังได้สร้างปรากฏการณ์ด้วยการผลิตเทคโนโลยีโมเดล AI แบบครบวงจรเป็นครั้งแรกในแผ่นดินใหญ่ ทีมงานที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นอิสระของ Xiaomi ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เปี่ยมด้วยทักษะกว่า 1,000 คน โดยมีแผนที่จะขยายทีมงานเป็น 1,500 และ 2,000 คนในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

นอกจากนี้ City Navigate on Autopilot (NOA) บน Xiaomi Pilot Max ยังมีกำหนดเปิดตัวใน 10 เมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 และคาดว่าจะครอบคลุมทั่วประเทศภายในเดือนสิงหาคม 2567

ข้อมูล Xiaomi

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.