ผู้ประกอบการรถโดยสารสองแถวในเชียงใหม่เริ่มนำร่องใช้ “รถสองแถวไฟฟ้าล้วน (EV)” รับ-ส่งผู้โดยสาร คาดหวังให้เชียงใหม่มีรถสาธารณะพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น มีเป้าหมายประหยัดพลังงานน้ำมัน ลดค่าใช้จ่าย และช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5
เชียงใหม่เริ่มทดลองให้บริการรถสองแถวไฟฟ้า (EV) ประหยัดกว่า ลดฝุ่น PM 2.5 พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผู้ขับขี่รถสองแถวเชียงใหม่ทดลองขับรถสองแถวไฟฟ้า 100% (EV) วิ่งรถรับ – ส่ง ผู้โดยสารในพื้นที่ โดยรถสองแถวไฟฟ้านี้พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
นายบริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์ ผู้ขับขี่รถสองแถวไฟฟ้า 100% ที่เปลี่ยนมาจากรถยนต์น้ำมันเผยว่า ได้เริ่มทดลองให้บริการรถสองแถวไฟฟ้าในเชียงใหม่เป็นเวลา 2 วัน ถือว่ารถใช้งานได้ดีกว่ารถพลังงานน้ำมันก่อนหน้านี้ทุก ๆ ด้าน ก่อนหน้านี้การใช้รถโดยสารพลังงานน้ำมันนั้นจะมีขั้นตอนหลายอย่างก่อนที่จะนำรถมาใช้แต่ละครั้ง แต่การใช้รถโดยสารไฟฟ้าถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ สำหรับตน
ในด้านของผลประกอบการ ผู้ขับขี่เผยว่า ได้รับผลประกอบการที่ดีขึ้น เนื่องจากรถโดยสารพลังงานน้ำมันจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในรถ ดังนั้นการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก ซึ่งนายบริสุทธิ์ คาดหวังว่าจะมีรถโดยสารไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ด้านผู้พัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ เผยว่า รู้สึกปลื้มใจและพึงพอใจมากกับโครงการรถโดยสารไฟฟ้าหรือสองแถวไฟฟ้า (EV) นี้ ซึ่งเป็นงานวิจัยตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา และได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการนำรถมาทดลองให้บริการประชาชนถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างสูง และอยากจะต่อยอดโครงการนี้ โดยนำต้นแบบจากตัวอย่างรถโดยสารไฟฟ้าไปขยายการใช้งานกับรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเดียวกัน
โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีรถโดยสารในลักษณะเดียวกันนี้อยู่มาก (เช่น รถแดง รถเหลือง รถขาว รถเขียว) ถ้าจะให้ดีจะต้องดำเนินโครงการนำร่องในการผลิตรถสี่ล้อแดง EV ต่อจากนี้จำนวนประมาณ 100 คัน เพื่อจะให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าการดัดแปลงรถโดยสารแบบใช้น้ำมันมาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า นั้นสามารถทำได้และสามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลา 6-8 เดือนในการดำเนินงานต่อไป
“ในการเปลี่ยนรถ 2 แถว เป็นรถพลังไฟฟ้า มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งยังถือเป็นราคาที่สูงสำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้นรัฐบาลควรจะเข้ามาช่วยเหลือด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา กล่าว
ปัจจุบัน ในโครงการนี้มีรถที่เปลี่ยนมาเป็นรถโดยสารไฟฟ้าแล้วจำนวน 2 คัน ระยะทางการวิ่งสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 270 กม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เป็นระะยะทางที่เพียงพอต่อการวิ่งให้บริการในรูปแบบรถประจำทาง ซึ่งอยู่ที่ประมาณวันละ 150 -160 กม.ต่อวัน
นอกจากนี้ รถทั้งสองคันมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี ซึ่งตอนที่เป็นรถยนต์พลังงานน้ำมันนั้นได้ปล่อยมลพิษออกมาจำนวนมาก ดังนั้นการเปลี่ยนมาเป็นรถโดยสารไฟฟ้าก็จะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภายในพื้นที่ได้ และยังช่วยให้ผู้ขับขี่ประหยัดมากขึ้น ตอนที่ยังเป็นรถน้ำมัน เฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ที่กิโลเมตรละ 3 บาท หลังจากเปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์ ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกอบการและสิ่งแวดล้อม
ที่มา springnews