สนามบิน Zuric ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์กำลังทดลองวิธีใหม่ ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในแนวตั้ง โดยติดตั้งไว้ที่รั้วรักษาความปลอดภัยใกล้กับสถานีให้ความร้อนของสนามบิน ซึ่งก่อนหน้านี้ สนามบินก็มีการใช้แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอยู่แล้ว
สนามบิน Zuric คิดวิธีใหม่สุดฉลาด “รั้วแผงโซลาร์เซลล์แบบแนวตั้ง” เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น
แผงโซลาร์เซลล์แนวตั้งนี้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้จากทั้งสองด้าน ช่วยให้รับแสงแดดได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งการออกแบบแบบสองด้านนี้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นถึง 10 – 30% เมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์แบบปกติที่ติดตั้งบนหลังคา นอกจากนี้ แผงเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นรั้วกั้นได้ในตัวอีกด้วย
การทดลองนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสนามบิน Zuric ในการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
นาย Guido Hünil หัวหน้าฝ่ายพลังงานและการลดคาร์บอนของสนามบิน กล่าวว่า “ในระยะแรกนี้ เราต้องการเรียนรู้จากระบบโซลาร์เซลล์แนวตั้ง และประเมินว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ได้หรือไม่ อย่างเช่น ลานจอดรถ” โดยการทดลองจะดำเนินต่อไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูผลที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล
ปัจจุบัน สนามบิน Zuric ใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100% อยู่แล้ว แต่ยังตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของตัวเองอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นเกือบ 20 เท่า ภายในปี 2040 เมื่อเทียบกับระดับในปี 2024
Guido Hünil กล่าวเสริมว่า “สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มการผลิตพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สนามบินพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้มากขึ้นด้วย”
ขณะนี้ แผงโซลาร์เซลล์ได้ถูกติดตั้งแล้วบนอาคารสนามบิน 12 แห่ง รวมถึงที่ท่าเทียบเครื่องบิน E และบนหลังคาของโครงการ The Circle จากการศึกษาล่าสุดยังพบว่า มีหลังคาอีกกว่า 40 แห่ง รวมถึงอาคารใหม่ที่จะก่อสร้างในอนาคตด้วย ซึ่งจะสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มเติมได้ แต่แผงที่ติดตั้งใหม่จะต้องออกแบบไม่ให้เกิดแสงสะท้อนรบกวนนักบินหรือการควบคุมการบิน
ภายในปี 2040 สนามบิน Zuricคาดว่าระบบโซลาร์เซลล์ทั้งหมดจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอสำหรับใช้ในบ้านของชาวสวิสประมาณ 5,000 หลังต่อปี
ที่มา electrek , immo-invest