18 – 21 มีนาคม 2025 ทีมงานได้รับโอกาสพิเศษจาก บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด และ BYD ประเทศจีนให้ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ ร่วมพูดคุยกับผู้บริหาร BYD เยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรม พิพิธภัณฑ์ BYD และร่วมสัมผัสประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน มาชมกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
เยี่ยมสำนักงานใหญ่ BYD เซินเจิ้นประเทศจีน พูดคุยผู้บริหาร พร้อมประสบการณ์รถลอยน้ำ YangWang U8 และชมพิพิธภัณฑ์ BYD
เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ BYD
BYD ได้จัดแสดงรถยนต์จากทุกแบรนด์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น BYD, Denza, Fang cheng bao และ YangWang ที่ด้านหน้าสำนักงานใหญ่ มีรถยนต์หลายรุ่นที่น่าสนใจ เช่น BYD ATTO 2, BYD Xia MPV, BYD Shark 6 PHEV, BYD Han, Denza Z9 GT, Fang cheng bao U8, Fang cheng bao Bao 3 เป็นต้น
ร่วมพูดคุยกับผู้บริหาร BYD ด้านเทคโนโลยีและทิศทางการตลาดในไทย
นอกจากนี้สื่อไทยของเรา ยังได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้บริหารของ BYD คุณหลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และคุณเบนสัน เค่อ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีวายดีไทยแลนด์ จํากัด ที่สำนักงานใหญ่ BYD ในเมืองเซินเจิ้น การพูดคุยครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นถึงการขับเคลื่อนรถยนต์พลังงานใหม่ของ BYD ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เทคโนโลยียานยนต์ใหม่ที่เปิดตัวในจีนช่วงปีนี้
ผู้บริหารเผยว่า BYD ในปี 2025 นี้ BYD ได้เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ในประเทศจีนอยู่ 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
- เปิดตัวระบบขับขี่อัจฉริยะ God’s Eye ในรถยนต์ BYD รุ่นยอดนิยม เพื่อให้ “ทุกคนขับเคลื่อนด้วยระบบอัจฉริยะ”
- เปิดตัวโดรนอัจฉริยะ Lingyuan ที่สามารถติดตามรถยนต์และถ่ายวิดีโอระหว่างเดินทางได้ มีลานลงจอดที่พับเก็บได้บนหลังคารถ
- เปิดตัวระบบ Super e-Platform แพลต์ฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ชาร์จเร็ว 100V ชาร์จ 5 นาที วิ่งได้ 400 กม. เกือบเทียบเท่ากับการเติมน้ำมัน
เห็นได้ว่า BYD ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่ล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบประสบการณ์การขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีทั้งความฉลาดและมอบความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้
ทิศทางการตลาดในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบัน BYD ได้เข้ามาทำการตลาดครบ 3 ปีแล้ว ซึ่งผู้บริหารของ BYD ก็แสดงความขอบคุณลูกค้าชาวไทยที่ให้การสนับสนุนในช่วงตลอดเวลาที่ผ่านมา
ตามแผนของ BYD ในประเทศไทยช่วง 3 ปีแรกนั้น BYD จะเปิดตัวรถให้ครบ 10 รุ่น โดยปัจจุบันได้เปิดตัว รถภายใต้แบรนด์ BYD ไปแล้ว 6 รุ่น และภายใต้แบรนด์ Denza 1 รุ่น ซึ่งภายในสิ้นปีนี้ก็จะเปิดตัวรถรุ่นใหม่อีก 3 รุ่น คาดว่าเป็นรถยนต์จากแบรนด์ Denza 1 รุ่น (อาจจะได้เห็นการเปิดตัวในงาน Motor Show 2025 นี้)
และอนาคตในไทยนั้น BYD ยังคงโฟกัสรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วน (BEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ในปี 2025 นอกจากจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่แล้ว BYD ยังให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีและโรงงานผลิตในไทยด้วย
ผู้บริหาร BYD เผยว่า ผู้บริโภคชาวไทยนั้นมีความสนใจด้าน High Technology ซึ่ง BYD ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และในงาน Motor Show 2025 นี้ บริษัทจัดแสดงรถยนต์รุ่นใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีด้านยานยนต์อื่น ๆ ด้วย
- 24 มีนาคม 2025 – เตรียมพบกับกิจกรรมพิเศษ ซึ่ง BYD แย้มว่า “คุ้มแน่นอน”
- 25 มีนาคม 2025 – โชว์ YangWang U8 ลอยน้ำ ในพื้นที่กว่า 5,000 ตรม. BYD Lab ที่จัดแสดงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของ BYD และระบบจอดอัจฉริยะ จัดแสดงที่ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี
เป้าหมายการผลิตรถยนต์ในไทย และผลกระทบเมื่อเปิดโรงงานในอินโดนีเซีย
BYD ได้วางแผนด้านการผลิตรถยนต์ในไทย โดยมีเป้าผลิตที่ 150,000 คันต่อปี ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในไทยยังไม่คล่องตัว แต่ BYD ยังคงยึดมั่นตามแผนเดิม ไม่ลดกำลังการผลิต เนื่องจากบริษัทวางแผนการผลิตรถยนต์สำหรับส่งมอบในไทย รวมถึงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย โดยมีพนักงานจำนวนมาก และมีการวางแผนห่วงโซ่อุปทาน และรถที่จะส่งออกเป็นรุ่นแรกคือ BYD Sealion 6 PHEV
ส่วนการตั้งโรงงาน BYD ในประเทศอินโดนีเซียนั้น ผู้บริหารเผยว่า ถึงแม้ว่าจะตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เนื่องจากในอินโดนีเซียนิยมรถรูปแบบ MPV แตกต่างจากไทย ซึ่ง BYD ได้วางแผนผลิตรถยนต์ให้ตอบโจทย์กับแต่ละตลาดอยู่แล้ว
ตอบคำถามด้านการจัดการอะไหล่รถยนต์
เมื่อถูกตั้งคำถามด้านการจัดการอะไหล่รถยนต์ BYD ในไทย ผู้บริหารเผยว่า โรงงานของ BYD สามารถขับเคลื่อนการการผลิตและส่งมอบอะไหล่ได้ ซึ่งในไทยนั้น BYD มีทั้งโรงงานผลิต และโชว์รูม BYD กว่า 150 แห่ง และ Denza 10 แห่ง รวมเป็น 160 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งหลังการรับบริการหลังการขายนั้น BYD ก็มีการจัดเก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูล เพื่อนำไปวิเคราะห์และวางแผนการเตรียมอะไหล่ในอนาคตต่อไป
การสนับสนุนรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จากภาครัฐ
จากก่อนหน้านี้ BYD กล่าวว่าจะโฟกัสทั้งรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จึงทำให้เห็นว่า BYD ก็จะผลักดันรถยนต์ PHEV ในไทยด้วย ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ รมช. กระทรงการคลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงาน BYD จังหวัดระยอง และกระทรวงอุตสาหกรรมประเทศไทยก็ได้เยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ BYD ที่เซินเจิ้นนี้ด้วย
ซึ่งทางกระทรวงก็ให้ความสนใจและเห็นด้วยกับแนวคิดของรถยนต์พลังงานใหม่ของ BYD จึงคาดว่า ในอนาคตอาจจะได้รับการสนับสนุนรถ PHEV และ HEV จากภาครัฐ ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ดบริหาร EV ด้วย
ระบบขับขี่อัจฉริยะขั้นสูง (God’s Eye) มีโอกาสเข้าไทยหรือไม่
ในการพูดคุยครั้งนี้ สื่อไทยได้มีการสอบถามถึงระบบขับขี่อัจฉริยะขั้นสูง God’s Eye ที่ BYD เพิ่งเปิดตัวในจีนว่ามีโอกาสที่จะมาเข้ามาในไทยด้วยหรือไม่
ทางผู้บริหาร BYD เผยว่า เนื่องจากระบบนี้เป็นระบบที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่ต้องดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และจะต้องได้รับการอนุมัติด้านกฎหมายในประเทศจีน ดังนั้นในประเทศไทยจึงยังไม่มีแผนการที่ชัดเจน แต่บริษัทก็จะผลักดันในอนาคต
ประสบการณ์ด้านเทคโนโลยียานยนต์ และระบบจอดอัจฉริยะ
ในทริปนี้ทีมงาน iMoD ยังมีโอกาสได้ทดลองนั่งรถ YangWang U8 ในโหมดลอยน้ำ และทดลองขับรถยนต์ในสนามทดสอบกันด้วย
ประสบการณ์นั่ง YangWang U8 โหมดลอยน้ำ
YangWang U8 เป็นรถ SUV ไฟฟ้าแบรนด์ระดับพรีเมียมของ BYD มาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว ให้พละกำลังรวม 1,180 แรงม้า โดยแต่ละล้อขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ 1 ตัว (มอเตอร์ 1 ตัวต่อ 1 ล้อ) สามารถควบคุมการเคลื่อนที่แยกกันได้ ทำให้ล้อรถสามารถหมุนเพื่อบังคับทิศทางได้แม้อยู่ในน้ำ
ทีมงานได้ทดลองในบ่อน้ำจำลองขนาดใหญ่ ลึกสูงสุด 4 เมตร โดยมีผู้โดยสาร 3 คน คนขับ 1 คน โดยน้ำหนักตัวรถ อยู่ที่ 3,460 กก.
เมื่อเริ่มขับลงน้ำจนรถลอย รถจะเปิดโหมดลอยน้ำทันที ระหว่างที่คนขับขับขี่ในโหมดลอยน้ำ รถก็จะเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ประมาณ 2 km/h โดยที่คนขับยังสามารถบังคับเลี้ยวและกลับรถในน้ำได้ ความสูงของน้ำตอนลอยจะอยู่ที่ระดับเกือบถึงขอบกระจกข้าง ใต้ท้องรถจะมีกล้อง ที่สามารถแสดงแสดงภาพใต้ท้องรถบนหน้าจอกลางได้ ทำให้เราเห็นสิ่งที่อยู่ใต้น้ำขณะที่รถเคลื่อนที่
ส่วนความรู้สึกขณะที่นั่งภายในรถระหว่างรถลอยน้ำอยู่นั้นจะคล้ายการนั่งเรือ รถไม่โคลงมาก อาจจะเป็นเพราะการทดสอบในน้ำนิ่ง และถึงแม้ว่าดูภายนอก รถจะเอียงไปทางด้านหน้า แต่ตอนนั่งในรถไม่ได้รู้สึกว่ารถเอียงมาก การเคลื่อนตัวค่อนข้างสมูธเลยทีเดียว
เมื่อรถขับถึงเนินแล้ว โหมดลอยน้ำก็จะเปลี่ยนเป็นโหมดขับขี่ปกติ เมื่อจอดรถแล้ว เวลาที่เราเปิดประตู น้ำจะถูกระบายออกจากประตูด้านข้าง โดยที่น้ำไม่เข้าไปภายในรถเลย เพราะว่ารถรุ่นนี้มีคุณสมบัติกันน้ำ สามารถลอยน้ำในโหมดฉุกเฉินได้นานสูงสุด 30 นาทีเลยทีเดียว
ประสบการณ์ระบบจอดอัจฉริยะ
BYD ได้จัดพื้นที่ให้ทดสอบระบบจอดอัจฉริยะ (Intelligent Parking) โดยที่ไม่ต้องอาศัยการควบคุมจากผู้ขับขี่ เพียงแค่กดปุ่มเดียวรถก็จะเริ่มการจอดในแต่ละรูปแบบอัตโนมัติ ซึ่งทีมงานได้ลองทดสอบหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น
e3 Intelligence Parking ระบบจอดที่ใช้เทคโนโลยี e3 ที่เป็นระบบขับเคลื่อนอิสระ 3 มอเตอร์ ผสมผสานการกระจายแรงบิดเฟืองท้ายด้วยมอเตอร์คู่และระบบบังคับเลี้ยวอิสระด้วยมอเตอร์คู่ ทำให้รถสามารถหมุนแบบเข็มทิศได้ จึงทำให้จอดรถขนานขอบทางทำได้ง่ายมากขึ้น
ในการทดสอบ เมื่อกดปุ่มจอดรถแบบ e3 Intelligence รถก็จะโค้งด้านหน้าเข้าไปที่ช่องจอดและบังขับล้อหลังเหมือนกับผลักเข้าไปขนานกับขอบทาง และจอดได้ตรงกับช่องพอดี
Diagonal Parking การจอดแบบเฉียง ที่รถสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าและถอยจอดแบบเฉียงได้เองอัตโนมัติ
Dead-end Parking Maneuver การจอดในช่องด้านในสุดที่มีทางตัน เพียงแค่แตะเลือกช่อง P ที่เป็นช่องจอดบนหน้าจอ ในตำแหน่งช่องจอดสุดท้าย รถก็สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและข้างหลังเอง และถอยจอดได้อย่างสมบูรณ์
Automate Valet Parking ถอยจอดเข้าซองปกติ ที่สามารถกดปุ่มบนหน้าจอ แล้วรถก็เดินทางและถอยหลังเข้าซองได้ หรือผู้ขับขี่สามารถลงจากรถและสั่งการจอดผ่านมือถือระยะไกล รถก็จะเริ่มการจอดได้เองอัตโนมัติ
ประสบการณ์ขับขี่และเทคโนโลยีอื่น ๆ
ทีมงานได้มีโอกาสทดลองขับขี่แบบออฟโรดบนสนามจำลอง ด้วยรถ Fang Cheng Bao Bao 8, Bao 5 และ BYD Shark 6 ขุมพลัง PHEV โดยรถทั้งสามมาพร้อมกล้องมองรอบคัน 360 องศา ทำให้สามารถเห็นแนวการขับขี่บนเส้นทางอย่างชัดเจน ช่วยทำให้การขับขี่ง่ายขึ้น
ในการทดลองขับบนเส้นทางเอียงสลับซ้าย – ขวา แสดงให้เห็นระยะยืดและยุบของรถ และถึงแม้ว่าล้อจะสัมผัสกับพื้นเพียงแค่ 3 ล้อ รถก็สามารถผ่านไปได้ หลังจากนั้นก็เข้าสู่การทดสอบการไต่พื้นต่างระดับ และจบด้วยการขับขี่ขึ้น-ลงทางชัน รถทรงตัวได้ดี และมีระบบช่วยหยุดรถ Auto Vehicle Hold (AVH) ที่ช่วยเบรคให้รถหยุดนิ่งบนเนิน โดยไม่ต้องเหยียบเบรกค้างไว้
นอกจากนี้ทีมงานยังได้ทดสอบด้านสมรรถนะการขับขี่ BYD Denza Z9 GT ทั้งการขับขี่พื้นถนนขรุขระและขับสลาลม ขับทางตรงพร้อมการเบรค และขับขี่ตามเส้นทางโค้ง ซึ่งก็ได้รับประสบการณ์การขับขี่ที่มั่นใจ ทั้งการทรงตัวของรถ การเข้าโค้ง และการเบรค
BYD ยังได้แสดง TANK Turn ระบบช่วยกลับรถหรือหมุนในที่แคบแบบ 360 องศา ซึ่งใช้หลักการทำงานของ หมุนล้อของรถถัง โดยมอเตอร์ทั้ง 4 ตัวจะกระจายกำลังให้กับล้อทั้ง 4 ล้อแบบอิสระ ทำให้รถสามารถหมุนรอบตัวเองได้
เยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ BYD Shenchan เซินเจิ้น
ทีมงานยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ BYD เชินซาน เซินเจิ้น ปัจจุบันเป็นโรงงานผลิตของรถยนต์ BYD Han Series, Denza Z9 และ YangWang โดยภายในโรงงานแห่งนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
โรงงานปั๊ม (Stamping) ที่ใช้เครื่องจักรในการรีดเหล็ก ตัดเหล็ก และนำไปปั๊มเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์ เช่น ประตู โครงรถ เป็นต้น โดยแต่ละชิ้นส่วนของรถยนต์จะมีแม่พิมพ์ (Mold) และจำนวนขั้นตอนการปั๊มที่แตกต่างกัน ตามการออกแบบ
ในโรงงานปั๊มนั้นจะใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ และใช้คนเพียง 90 คนเท่านั้น ซึ่งจะมีวิศวกรควบคุมเครื่องจักรในแต่ละส่วนงาน และฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ (QC) ชิ้นส่วนที่ปั๊มออกมา ก่อนที่จะส่งมอบไปยังสายการผลิตถัดไป
โรงงานเชื่อม (Welding) หลังจากที่ได้ชิ้นส่วนจากการปั๊ม (Stamping) แล้ว ชิ้นส่วนรถยนต์ก็จะถูกส่งมายังส่วนของการเชื่อม (Welding) โดยใช้เครื่องจักรในการเชื่อมรถทั้งคันถึง 90% ซึ่งมีความแม่นยำสูง เนื่องจากเครื่องจักร์ไม่มีการยกตัวรถ ทำให้รอยเชื่อมเสถียร สวยงาม และใช้คนเพียง 10% ในการตรวจสอบคุณภาพ ความเรียบร้อย และเก็บงานเชื่อม
โดยการเชื่อมนั้นจะเชื่อมจุด (Spot) ด้วยเทคนิคพิเศษของ BYD ที่มีความแม่นยำและมีคุณภาพ โดยจะเริ่มเชื่อมส่วนล่างก่อน และตามด้านส่วนหน้า และส่วนอื่น ๆ ของตัวรถ ระหว่างการเชื่อมนั้นจะมีกล้อง CCTV ที่คอยแสดงการเชื่อมและแจ้งเตือนเมื่อเกิดข้อผิดพลาด
หลังจากเชื่อมแล้วก็จะทำการขันน็อตให้แน่น และนำโครงรถพักเก็บไว้ จนกว่าจะถึงคิวการผลิตในขั้นตอนถัดไป (เพ้นท์สี)
โรงงานประกอบขั้นสุดท้าย (Final Assembly) หลังจากเชื่อมตัวรถและเพ้นท์สีเรียบร้อยแล้ว ตัวรถก็จะถูกส่งมาที่โรงงานประกอบ ซึ่งจะมีการแบ่งส่วนการประกอบย่อยเป็น 11 สาย มีทั้งการประกอบภายในและสายไฟ การประกอบแชสซี (ช่วงล่างและระบบขับเคลื่อน) การประกอบ EV Line (ประกอบแบตเตอรี่ใต้ท้องรถ) Final Line และ OK Line พร้อมนำรถออกจากสายพานการผลิต
ในปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ BYD เชินซาน เซินเจิ้น มีกำลังการผลิตถึง 400,000 ต่อปี สามารถทำการผลิตรถยนต์ได้ 70 คัน/ชม.
หมายเหตุ ภาพโรงงานเป็นภาพประกอบเท่านั้น ไม่ใช่ภาพจริงจากโรงงาน BYD เซินเจิ้น เนื่องจากทีมงานไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพและวิดีโอภายในโรงงาน ซึ่งเป็นความลับของบริษัท
เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ BYD (BYD Museum)
หลังจากที่ได้เยี่ยมชมโรงงานแล้ว ทีมงานก็ยังมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ BYD ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบันในสถานที่ที่เรียกว่า “BYD Museum” ซึ่งตั้งอยู่ที่ เมืองเซินเจิ้น มี 2 ตึกด้วยกัน
โดยตึกแรกจะเป็นการถ่ายทอดประวัติของ BYD ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1994 โดยคุณหวัง ชวนฟู ในช่วงแรก บริษัทมุ่งเน้นการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทัล และแล็ปท็อป
ด้วยความสามารถในการผลิตที่มีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ ทำให้ BYD สามารถครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือในประเทศจีนได้ค่อนข้างมาก และมีลูกค้าระดับโลก เช่น Nokia, Samsung, Apple และ Motorola และในปี 2002 BYD ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นช่วงความสำเร็จในด้านแบตเตอรี่ของ BYD อย่างมากในยุคนั้น
ภายในตึกแรก ได้มีการจำลองออฟฟิศของ BYD ในช่วงเริ่มต้น ที่มีทั้งห้องทำงานของคุณหวัง ซึ่งเป็นพนักงานคนแรกของบริษัท และมีห้องทำงานของพนักงานในแผนกต่าง ๆ เช่น แผนกขายทั่วโลก แผนกการตลาด แผนกวิศวกรรม แผนกการออกแบบอุปกรณ์ หน่วยงานด้านการจดสิทธิบัตร เป็นต้น โดยโต๊ะทำงาน ห้องประชุม บูธที่จัดงานในฮ่องกง และสถานที่ต่าง ๆ ถูกจัดวางให้เหมือนสถานที่จริงในสมัยนั้น
นอกจานี้ ยังมีการจัดแสดงสิทธิบัตรที่ตอนนี้มีมากกว่า 35,000 ฉบับ แสดงให้เห็นถึงความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนาของ BYD อยู่ต่อเนื่อง
ในพิพิธภัณฑ์ยังแสดงถึงอุปกรณ์และวิธีการผลิตผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟสที่มีมากกว่า 29 ขั้นตอน โดยส่วนใหญ่จะใช้แรงงานคนในการผลิต เนื่องจากบริษัทมีงบประมาณน้อย การใช้แรงงานคนมีราคาถูกกว่าการซื้อเครื่องจักรราคาแพง
นอกจากนี้ยังมีการแสดงยุคของ Blade Battery ที่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จด้านแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานใหม่ของ BYD ซึ่ง Blade Battery มีความปลอดภัยสูงและเป็นแบตเตอรี่ที่สามารถส่งมอบให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น Tesla
ส่วนตึกที่ 2 จะแสดงถึงช่วงที่ BYD เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ในปี 2002 BYD ได้เริ่มดัดแปลงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยนิกเกิลเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยลิเธียมเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นรถทดสอบ มีชื่อรหัสว่า “BYD-001”
ต่อมาในปี 2003 บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการเข้าซื้อกิจการของ Qinchuan Auto ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน แม้ว่าในช่วงแรก BYD จะยังคงผลิตรถยนต์สันดาปภายใน แต่บริษัทก็ได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมกัน
ในปี 2004 BYD ได้เปิดตัวรถรุ่น 316 แต่ก็ประสบปัญหาเนื่องจากตัวแทนจำหน่ายยังไม่มั่นใจในคุณภาพของรถยนต์ เนื่องจากรุ่นนี้ไม่ได้รับความนิยมในตลาด จึงทำให้ BYD ยกเลิกการขายรถรุ่นนี้ทันที อย่างไรก็ตาม ความพยายามด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD ทำให้บริษัทเปิดตัวรถรุ่นใหม่ F3 ที่มียอดขายกว่า 100,000 คันภายใน 14 เดือน และได้รับรางวัลมากมาย
และในปี 2008 เปิดตัวรถยนต์รุ่น F3 DM รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) คันแรกของโลก พัฒนาต่อยอดมาจาก F3 ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ BYD กลายเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนระดับโลก
ภายในตึกที่ 2 นี้ยังได้จัดแสดงวิวัฒนาการการพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัย หน้าจออินโฟเทนเมนต์ เบรก ระบบช่วงล่าง ไฟหน้า ระบบ ADAS กุญแจ และชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย
รวมถึงมีการขยายไปยังธุรกิจโซลาร์ ที่มีโครงการมากกว่า 1,000 แห่งทั่วโลก รวมถึงมีรถรางขนส่ง, SkyRail รถรางไฟฟ้า 100% มีน้ำหนักเบา และขับขี่ด้วยระบบอัตโนมัติ และมีบริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับลูกค้าชั้นนำทั่วโลก เช่น Apple, Motorola, Samsung, Razer, Nokia, Xiaomi เป็นต้น โดยก่อตั้งในปี 2015 และเข้าสู่ตลาดหุ้นในปี 2017 เป็นบริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์ติด Top 3 ในประเทศจีน
ปัจจุบัน BYD ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ชั้นนำของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1-2 สลับกับ Tesla ในปี 2023 บริษัทสามารถผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ได้มากถึง 3 ล้านคัน และขยายตลาดไปยังหลายประเทศ รวมถึงการตั้งฐานการผลิตในจีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น ฮังการี อินเดีย อินโดนีเซีย และตั้งโรงงานในประเทศไทยในปี 2024