ใน

จีนใช้ “แร่หายาก” เป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับทรัมป์ ควบคุมการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิด กระทบอุตสาหกรรมรถยนต์

จีนได้ขยายการใช้ “แร่หายาก” ซึ่งเป็นแร่ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมไฮเทค เป็นเครื่องมือในสงครามการค้า ด้วยการออกมาตรการจำกัดการส่งออกแร่เหล่านี้ โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของแร่สำคัญระดับโลก ที่ใช้ตั้งแต่ในรถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงอาวุธยุทโธปกรณ์

จีนใช้ “แร่หายาก” เป็นอาวุธในการทำสงครามการค้ากับทรัมป์ ควบคุมการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิด กระทบอุตสาหกรรมรถยนต์

มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตอบโต้ของจีนต่อการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจีนเรียกว่า ภาษีแบบตอบโต้เท่าเทียม โดยเมื่อวันศุกร์ จีนประกาศว่าจะเข้มงวดการควบคุมการส่งออกแร่หายากจำนวน 7 ชนิด ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกในกลุ่มแร่หายากที่มีทั้งหมด 17 ธาตุในตารางธาตุเคมี

ข่าวนี้ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มแร่หายากพุ่งสูงขึ้นเมื่อวันจันทร์ เช่น หุ้นของบริษัท China Rare Earth Holdings Ltd. ในฮ่องกง เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 10% ขณะที่หุ้นของ China Northern Rare Earth Group เพิ่มขึ้น 9.2% และหุ้นของบริษัท Lynas Rare Earths Ltd. จากออสเตรเลียก็เพิ่มขึ้นถึง 5.1%

จากข้อมูลของสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐฯ (US Geological Survey) จีนมีสัดส่วนการผลิตแร่หายากเกือบ 70% ของทั้งโลก และการควบคุมแร่พิเศษเหล่านี้ถือว่าเป็นเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญมานาน เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็พึ่งพาการนำเข้าแร่จากจีนเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้จีนก็ได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่สำคัญอื่น ๆ เช่น แกลเลียม, เจอร์เมเนียม, กราไฟต์ และพลวง ซึ่งเป็นผลจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

มาตรการใหม่นี้ไม่ใช่การห้ามส่งออกโดยสิ้นเชิง แต่หมายความว่าการส่งออกแร่เหล่านี้จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น ว่าใครเป็นผู้ซื้อและซื้อไปใช้ทำอะไร ยกตัวอย่างเช่นตัวอย่างเช่น ในอดีตแร่บางชนิดที่ถูกควบคุมในลักษณะเดียวกัน ก็เคยทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงจนเหลือศูนย์ เพราะผู้ส่งออกต้องใช้เวลาในการขอใบอนุญาต

นักวิเคราะห์จากบริษัท Citic Securities Ltd. ระบุว่า “มาตรการใหม่นี้อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกตึงตัวมากขึ้น” และยังเสริมว่า “นโยบายนี้ช่วยปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติจีน และยังเพิ่มความสำคัญเชิงกลยุทธ์ให้กับการลงทุนในอุตสาหกรรมแร่หายาก”

อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน

แร่หายากทั้ง 7 ชนิดที่ถูกควบคุม ได้แก่

  1. ซามาเรียม (samarium)
  2. แกโดลิเนียม (gadolinium)
  3. เทอร์เบียม (terbium)
  4. ดิสโพรเซียม (dysprosium)
  5. ลูทีเชียม (lutetium)
  6. สแกนเดียม (scandium)
  7. อิตเทรียม (yttrium)

อย่างไรก็ตาม แร่ที่มีการใช้งานแพร่หลายมากอย่างนีโอไดเมียม (neodymium) และพราเซโอไดเมียม (praseodymium) กลับไม่ถูกรวมอยู่ในรายการ แม้ว่าแร่ทั้งสองนี้จะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในการใช้งานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของแร่หายาก

เดวิด อับราฮัม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Boise State University ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า แร่นีโอไดเมียมและพราเซโอไดเมียม ต่างจากแร่ 7 ชนิดที่เลือกควบคุม เนื่องจากยังสามารถหาได้จากประเทศอื่น จึงอาจทำให้การควบคุมแร่เหล่านี้มีผลกระทบน้อยลง และอาจเป็นเหตุผลที่จีนยังไม่ใส่ไว้ในรายการ เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สมาคมอุตสาหกรรมโลหะนอกกลุ่มเหล็กของจีน ได้ออกแถลงการณ์ในวันอาทิตย์ว่า มาตรการควบคุมนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ ตราบใดที่บริษัทต่าง ๆ ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นภัยต่ออธิปไตย ความมั่นคง หรือผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน

เมื่อวันศุกร์ กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า การตั้งมาตรการควบคุมการส่งออกวัสดุที่ใช้ได้ทั้งในเชิงพาณิชย์และการทหาร (dual-use) เป็นการคุ้มครองความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงในภูมิภาค และสันติภาพของโลก

ข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารกลางของจีนได้เพิ่มการถือครองทองคำในคลังสำรองต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนมีนาคม เพื่อใช้เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาดหุ้นจีนร่วงหนัก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของจีนลดลงใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนเริ่มวิตกกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก

จีนยังประกาศว่า มีเครื่องมือพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบาย เช่น การลดดอกเบี้ย หรือการลดข้อกำหนดเงินสำรองของธนาคาร หากจำเป็น เพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากผลกระทบของมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

จีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 34% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สร้างความประหลาดใจทั้งในด้าน “จังหวะเวลา” และ “ขอบเขต” โดยนักวิเคราะห์จาก Bloomberg Economics ระบุว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้สะท้อนว่า สหรัฐฯ ได้กดดันจีนจนถึงขีดจำกัดทางเศรษฐกิจแล้ว

แม้ในสงครามการค้าจะมีคำพูดที่ว่า “การไม่ตอบโต้เลย อาจเป็นการตอบโต้ที่ดีที่สุด” จีนดูเหมือนจะเลือกเส้นทางตรงกันข้ามในครั้งนี้

ที่มา bloomberg

ขอบคุณภาพ china-briefing, alcircle, reuters

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.