เกิดกระแสวิจารณ์ครั้งใหญ่ในวงการยานยนต์ไฟฟ้าของจีน หลังจากบล็อกเกอร์รายหนึ่งออกมาทดสอบค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน (Drag coefficient หรือ Cd) ของรถยนต์ไฟฟ้า Avatr 12 และพบว่าค่าที่ได้สูงกว่าที่บริษัทผู้ผลิตเคยเคลมไว้ เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลด้านประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้จริง ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการแข่งขันสูง
Avatr 12 ถูกตั้งข้อสงสัยค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน (Cd) หลังผลทดสอบมากกว่าที่บริษัทเคลมไว้ 0.07 Cd
บล็อกเกอร์ชื่อ 苏黎世贝勒爷 (อ่านว่า ซูหลีซือ เป๋ยเล่อเย่ มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคนบนโซเชียลมีเดียจีน Weibo) ได้ทำการทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าจีนรุ่นหนึ่ง ซึ่งภายหลังชาวเน็ตระบุว่าเป็นรุ่น Avatr 12 โดยทำการทดสอบในอุโมงค์ลมของศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์แห่งประเทศจีน (CATARC) ที่เมืองเทียนจิน โดยบอกว่าการทดสอบครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐาน CSAE 146-2020 และมีเจ้าหน้าที่มืออาชีพดำเนินการ
จากผลการทดสอบพบว่า รถมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอยู่ที่ 0.28 Cd ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. ซึ่งสูงกว่าค่าที่ Avatr เคยประกาศไว้ที่ 0.21 Cd ถือว่าสูงกว่าถึงกว่า 30% และเทียบได้กับรถยนต์ใช้น้ำมันรุ่นเก่าอย่าง Passat B5 ที่มีอายุกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ บล็อกเกอร์ยังอ้างว่า ศูนย์ทดสอบไม่ออกเอกสารรายงานผลอย่างเป็นทางการในวันทดสอบ และมีวิดีโอทดสอบที่ถูกลบออกจากอินเทอร์เน็ตด้วย ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอาจมีการแทรกแซงจากทางแบรนด์
Avatr ปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมตั้งรางวัลตามหาข้อมูล “โจมตีแบรนด์”
หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมา ทาง Avatr ออกแถลงการณ์ผ่านฝ่ายกฎหมาย ปฏิเสธข้อมูลจากบล็อกเกอร์ว่า “ไม่เป็นความจริง” พร้อมประกาศตั้งรางวัล 5 ล้านหยวน สำหรับผู้ให้เบาะแสเกี่ยวกับการใช้ black PR หรือการโจมตีชื่อเสียงของแบรนด์โดยไม่หวังดี
นอกจากนี้ Avatr ยังประกาศว่าจะจัดการทดสอบสาธารณะกับรถรุ่นผลิตจริงในอุโมงค์ลมที่ได้รับการรับรอง โดยรอคิวจากหน่วยงานระดับประเทศ เพื่อยืนยันความถูกต้องของตัวเลขอย่างโปร่งใส
รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของ Avatr นายหย่งจวิ้น เผยว่า บล็อกเกอร์คนดังกล่าวเคยวางแผนจะทดสอบรถ Avatr 12 ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ให้ทางบริษัทเข้าร่วมหรือช่วยเหลือในกระบวนการทดสอบ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลทดสอบ
ขณะที่ประธานบริษัท Avatr นายเฉินจั๋ว ได้ออกมาปกป้องเทคโนโลยีและการออกแบบของรถยนต์จีนยุคใหม่ โดยเฉพาะฟีเจอร์ด้านอากาศพลศาสตร์ของ Avatr 12 เช่น กระจกมองข้างแบบดิจิทัล ช่องระบายอากาศอัตโนมัติด้านหน้า และพื้นใต้ท้องรถที่ปิดสนิททั้งหมด พร้อมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการเปรียบเทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมันรุ่นเก่าอายุ 20 ปี
บล็อกเกอร์ท้าทายให้ Avatr แสดงหลักฐาน
ทางด้านบล็อกเกอร์รายเดิมได้โต้ตอบ โดยท้าทายให้ Avatr แสดงรายงานผลการทดสอบที่ระบุค่า 0.21 Cd และเชิญตนไปเป็นพยานในการทดสอบสาธารณะที่จะจัดขึ้น แต่เขาอ้างว่า ทางบริษัทไม่เคยส่งรายงานดังกล่าวให้ และยังลบข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียทาน 0.21 ออกจากอินเทอร์เน็ตไปแล้วด้วย
ค่าแรงต้านอากาศมีผลต่อรถยนต์ไฟฟ้า
ค่า Cd ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพราะส่งผลต่อการใช้พลังงานและระยะทางที่วิ่งได้ โดยเฉพาะเมื่อขับที่ความเร็วสูง ตัวอย่างเช่น การลดค่า Cd ลงเพียง 0.01 อาจเพิ่มระยะทางได้ถึง 10 กิโลเมตร ที่ความเร็ว 120 กม./ชม. ดังนั้น ความคลาดเคลื่อนมากกว่า 0.07 Cd ตามที่บล็อกเกอร์พบ จึงถือว่าเกินขอบเขตของความแตกต่างจากการทดสอบปกติ
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดกระแสถกเถียงอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ หลายคนเรียกร้องให้มีการทดสอบโดยบุคคลที่สามอย่างเป็นกลาง ใช้รถรุ่นผลิตจริงที่สุ่มเลือกจากสายการผลิต เพื่อยุติข้อขัดแย้งนี้อย่างโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันว่าข้อมูลจากฝ่ายไหนเป็นความจริง ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าจะมีการทดสอบสาธารณะหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร
ที่มา carnewschina