ใน ,

BYD จับมือพันธมิตรสถานีชาร์จ เตรียมติดตั้งตู้ชาร์จเร็วระดับเมกะวัตต์ ถึง 15,000 จุดทั่วจีน

BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ประกาศความคืบหน้าครั้งสำคัญในการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จเร็วระดับเมกะวัตต์ (MW) ทั่วประเทศ ในงานเปิดตัวโครงการ Megawatt Charging: 10,000-Charger Co-Construction ที่งานแสดงรถยนต์กว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า ปี 2025 โดยสร้างความร่วมมือใหม่กับผู้ให้บริการสถานีชาร์จรายใหญ่อย่าง Xiaoju Charging และ Xindietu ตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จเร็วนี้รวม 15,000 จุดทั่วจีน

BYD จับมือพันธมิตรสถานีชาร์จ เตรียมติดตั้งตู้ชาร์จเร็วระดับเมกะวัตต์ ถึง 15,000 จุดทั่วจีน

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของ BYD ในการเร่งติดตั้งเครื่องชาร์จระดับเมกะวัตต์ทั่วประเทศจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถเข้าถึงการชาร์จแบบเร็วพิเศษได้อย่างกว้างขวาง

ความร่วมมือนี้ ตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จเร็วระดับเมกะวัตต์จำนวน 15,000 จุด โดย Xiaoju Charging สร้าง 10,000 จุด และ Xindietu สร้าง 500 จุด

นอกเหนือจากการร่วมมือกับพันธมิตรแล้ว ก่อนหน้านี้ BYD ยังได้ประกาศว่าจะสร้างสถานีชาร์จเมกะวัตต์ของตนเองจำนวน 4,000 จุด ซึ่งปัจจุบันสร้างเสร็จแล้วกว่า 500 จุด ครอบคลุมกว่า 200 เมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน

Xiaoju Charging เป็นผู้ให้บริการสถานีชาร์จภายใต้การดูแลของ Didi ปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 8,400 ราย และให้บริการผู้ใช้กว่า 34 ล้านคน ขณะที่ Xindietu ได้รวบรวมสถานีชาร์จสาธารณะในจีนไว้กว่า 90% และดำเนินงานในกว่า 400 เมือง การร่วมมือกันของทั้ง 3 บริษัทมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายการชาร์จระดับเมกะวัตต์ที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งบนทางหลวงและในเขตเมือง

การผลักดันการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จระดับเมกะวัตต์นี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ BYD ได้เปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าวครั้งแรกในเดือนมีนาคม พร้อมกับการเปิดตัวรถยนต์รุ่น Han L และ Tang L ซึ่งรองรับความเร็วในการชาร์จที่สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 400 กม. ภายในเวลาเพียง 5 นาที

เทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์นี้ประกอบด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น ระบบแบตเตอรี่ 1,000V/1,000A/1,000kW และเทคโนโลยี Smart voltage boosting ที่ช่วยให้รถยนต์สามารถชาร์จกับสถานีชาร์จเร็วสาธารณะต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น

ระบบนี้ยังมาพร้อมกับการชาร์จแบบ 2 หัวจ่าย (Dual-gun) ช่วยเพิ่มกำลังไฟได้เกือบ 2 เท่า และลดระยะเวลาในการชาร์จลงได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับมาตรฐานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แม้กระทั่งการใช้หัวจ่ายเดียวก็ยังช่วยลดระยะเวลาในการชาร์จลงได้ถึง 45% เมื่อเทียบกับการชาร์จเร็วแบบเดิม ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานได้อย่างมาก

กระแสตอบรับจากตลาดถือว่าดีเยี่ยม นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนเมษายน รถยนต์รุ่น Han L และ Tang L มียอดขายในเดือนแรกสูงถึง 10,483 คัน และ 11,406 คันตามลำดับ ส่งผลให้ยอดขายรวมของตระกูล Han และ Tang ในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียวทะลุ 40,000 คัน

BYD เชื่อว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้มาจากความน่าสนใจของเทคโนโลยีการชาร์จระดับเมกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับระยะเวลาในการชาร์จและการเข้าถึงสถานีชาร์จ

BYD กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ให้บริการสถานีชาร์จชั้นนำรายอื่น ๆ เพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและรักษาแรงผลักดันนี้ต่อไป บริษัทตั้งเป้าหมายในอนาคตว่าการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะรวดเร็วและสะดวกสบายเทียบเท่ากับการเติมน้ำมันรถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับยุคของยานยนต์ไฟฟ้า

ที่มา carnewschina

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.