ประเทศไทยได้รับฉายาว่าเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์จากบริษัทรถยนต์ชั้นนำต่าง ๆ มานานหลายปี เช่น Toyota Motor, Ford Motor เป็นต้น และในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์น้ำมันไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ประเทศไทยเองก็มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเน้นไปที่การผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
การผลิตแบตเตอรี่นั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลไทยจึงได้แสวงหาความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำอย่างจริงจังและพยายามดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศด้วยมาตรการจูงใจที่สนับสนุนบริษัทผู้ผลิต
โดยบริษัทที่ลงทุนการผลิตอย่างน้อย 5 พันล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคล 20% เป็นเวลา 3-8 ปี และสำหรับการลงทุนผลิตชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับส่วนลดภาษี 50% เป็นเวลาอีก 5 ปี
แน่นอนว่าหลายบริษัทจึงให้ความสนใจในการจัดตั้งธุรกิจและลงทุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับเงินลงทุนมากถึง 75,000 ล้านบาท จากผู้ผลิตจีนอย่าง BYD, Great Wall Motor และ SAIC Motor ที่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ส่วนบริษัทรถยนต์ Changan Auto และ GAC Aion New Energy Automobile ก็ให้ความสนใจในการจัดตั้งธุรกิจในประเทศด้วย มีกำหนดสรุปแผนการลงทุนเร็ว ๆ นี้ ด้าน Chery Automobile ก็อยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้การสนับสนุนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศด้วย โดยมีมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มอบเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน เพื่อช่วยให้มีการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลงหรือมีราคาใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามูลค่าหลายพันล้านบาทที่อยู่ในระหว่างดำเนินการนั้นก็เตรียมส่งไปยังรัฐบาลชุดใหม่เพื่อขออนุมัติ แน่นอนว่ามาตรการด้านรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดก็จะเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ด้วย
ในด้านการเปลี่ยนผ่านมาเป็นพลังงานสะอาดนั้น ประเทศไทยตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ตามนโยบาย 30@30 และวางเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 40 กิกะวัตชั่วโมง เพื่อให้เพียงพอกับการนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า 725,000 คัน
ประเทศไทยพยายามวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายในการรักษาแชมป์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งประเทศไทยนั้นมีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน เนื่องจากมีจุดแข็งด้านการผลิตที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการหาส่วนประกอบ มีความสามารถในการผลิตที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ใจกลางภูมิภาค ทำให้นักลงทุนสามารถใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกโดยเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้
ความสำเร็จในการดึงดูดผู้ผลิตต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนทั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้นั้น จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยส่งเสริมภาคเศรษฐกิจและแรงงานในประเทศ และอาจจะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศถูกลงจากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้า ซึ่งราคาอาจจะเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป ทำให้อัตราการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นในอนาคต รว
ที่มา auto.hindustantimes.com