ใน , ,

พลังงานสะอาดของโลกทะลุ 40% ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียน

รายงานฉบับใหม่จาก Ember ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านพลังงานระดับโลก ระบุว่า ในปี 2024 พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ร่วมกันผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 40.9% ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1940 ที่พลังงานสะอาดสามารถทะลุหลัก 40% ได้

พลังงานสะอาดของโลกทะลุ 40% ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของพลังงานหมุนเวียน

ในปี 2024 เพียงปีเดียว พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 858 TWh ซึ่งมากกว่าระดับสูงสุดก่อนหน้านี้ในปี 2022 ถึง 49% โดยพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่เติบโตมากที่สุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 474 TWh คิดเป็น 6.9% ของการผลิตไฟฟ้าโลก และเติบโตขึ้น 29% ซึ่งทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 20

พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในเวลาเพียง 3 ปี และในปี 2024 ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 2,000 TWh ขณะที่พลังงานลมก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% ของการผลิตไฟฟ้าโลก ส่วนพลังน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด ยังคงอยู่ที่ระดับเดิมคือ 14%

Phil MacDonald กรรมการผู้จัดการของ Ember กล่าวว่า “พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็นเครื่องยนต์หลักของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก และเมื่อจับคู่กับระบบกักเก็บพลังงานอย่างแบตเตอรี่ มันจะกลายเป็นพลังที่หยุดยั้งไม่ได้ ในฐานะแหล่งผลิตไฟฟ้าใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุดและใหญ่ที่สุด ถือเป็นบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโลก”

รายงาน Global Electricity Review ฉบับที่ 6 ของ Ember ที่ถือเป็นรายงานภาพรวมที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2024 โดยอิงจากข้อมูลระดับประเทศ และมาพร้อมกับฐานข้อมูลแบบเปิดแห่งแรกของโลกที่แสดงข้อมูลการผลิตไฟฟ้าในปี 2024 ครอบคลุม 88 ประเทศที่คิดเป็น 93% ของความต้องการไฟฟ้าทั่วโลก รวมถึงข้อมูลย้อนหลังจาก 215 ประเทศ

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

จากการวิเคราะห์พบว่า การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1.4% ในปี 2024 เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งผลักดันให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1.6% จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

คลื่นความร้อนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของการเพิ่มขึ้นของความต้องการไฟฟ้า (+0.7%) จากที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 4.0% ในปี 2024 โดยส่วนใหญ่มาจากการใช้เครื่องปรับอากาศและระบบทำความเย็น หากไม่นับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% เท่านั้น เพราะพลังงานสะอาดสามารถรองรับความต้องการส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นได้ถึง 96%

Phil MacDonald กล่าวเพิ่มเติมว่า “ท่ามกลางกระแสข่าวมากมาย สิ่งสำคัญคือ ต้องโฟกัสกับข้อมูลที่แท้จริง การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานฟอสซิลในปี 2024 ส่วนใหญ่มาจากอากาศที่ร้อนขึ้น แต่ไม่น่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะเดียวกันอีกในปี 2025”

นอกจากเรื่องของสภาพอากาศแล้ว เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI, Data Center, รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเครื่องทำความร้อนแบบปั๊มความร้อน (Heat pumps) ก็มีบทบาทในการเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกเช่นกัน โดยในปี 2024 เทคโนโลยีเหล่านี้รวมกันทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 0.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อ 5 ปีก่อน

พลังงานสะอาดจะเติบโตเร็วกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า

รายงานของ Ember ชี้ว่า การผลิตพลังงานสะอาดจะเติบโตเร็วเกินความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีต่อ ๆ ไป ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการลดลงถาวรของการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยอัตราการเติบโตของพลังงานสะอาดที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน เพียงพอที่จะรองรับการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ 4.1% ต่อปีจนถึงปี 2030 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เดิม

Phil MacDonald กล่าวว่า “ทั่วโลกกำลังจับตาดูว่าเทคโนโลยีอย่าง AI และรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มความต้องการไฟฟ้าอย่างไร แต่จากแนวโน้มที่พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เรามั่นใจว่าพลังงานสะอาดจะสามารถรองรับได้สบาย ๆ และผู้ที่คาดว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจะยังคงเพิ่มขึ้นน่าจะต้องผิดหวัง”

นอกเหนือจากเทคโนโลยีเกิดใหม่แล้ว เส้นทางการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ก็จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของโลก โดยมากกว่าครึ่งของการเพิ่มขึ้นของพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2024 มาจากประเทศจีน ซึ่งสามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ถึง 81% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ขณะที่อินเดียก็เพิ่มกำลังผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2024 เป็น 2 เท่าจากปี 2023 ประเทศทั้งสองจึงอยู่แถวหน้าในการขับเคลื่อนไปสู่พลังงานสะอาด และจะช่วยพลิกสมดุลของโลกไปสู่การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

ศาสตราจารย์ซุนเผิง สือ ประธานสมาคมศึกษาการเปลี่ยนผ่านพลังงานสากล (ISETS) กล่าวว่า “อนาคตของระบบไฟฟ้าโลกกำลังถูกกำหนดในเอเชีย โดยมีจีนและอินเดียเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การที่ทั้งสองประเทศหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะกำหนดทิศทางของภาคพลังงานโลก และเร่งให้การใช้พลังงานฟอสซิลลดลงอย่างรวดเร็ว”

ที่มา electrek

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.