ใน ,

Volkswagen ประกาศ 4 นวัตกรรมใหม่ จากการวิจัยเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ศูนย์นวัตกรรมของ Volkswagen ในสหรัฐอเมริกา (US Innovation Hub) ได้ประกาศความก้าวหน้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า โดยมี 4 นวัตกรรมใหม่ที่ประสบความสำเร็จ มาชมกันว่ามีอะไรบ้าง

Volkswagen ประกาศ 4 นวัตกรรมใหม่ จากการวิจัยเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

US Innovation Hub เป็นศูนย์นวัตกรรมของ Volkswagen ที่เปิดทำการในปี 2020 ณ อุทยานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทนเนสซี ซึ่ง Volkswagen ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ภายในมหาวิทยาลัยและนักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ปฏิบัติการ Oakridge National Laboratory (ORNL) ทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และได้ประกาศถึงความสำเร็จ 4 เรื่องด้วยกัน

1. พัฒนาเฟรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย AI

นักวิจัยของ Volkwagen กำลังพัฒนาเกี่ยวกับโครงสร้างวัสดุใหม่ที่สามารถลดน้ำหนักรถยนต์และช่วยเพิ่มระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้าให้ไกลมากขึ้น การวิจัยนี้ได้ทำการเปลี่ยนวัสดุของเฟรมบรรจุแบตเตอรี่ที่เป็นโครงเหล็กแทนที่ด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบากว่า

ทีมวิจัยและพัฒนาได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง พัฒนาโครงสร้างให้เป็นรูปแบบพีระมิดขนาดเล็กประกบเรียงกัน โดยพิมพ์ 3D จากวัสดุเรซิ่น โดยเฟรมนี้สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 68 กรัม และมีน้ำหนักเบากว่าเฟรมเหล็กถึง 60%

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าเฟรมเรซิ่นดูดซับพลังงานได้ดีกว่าเฟรมเหล็กด้วย หมายความว่าเฟรมเรซิ่นมีความทนทานมากกว่า

2. วัสดุภายในรถมีส่วนผสมจากกระดาษ

นักวิทยาศาสตร์ที่ Center for Renewable Carbon ของมหาวิทยาลัยแทนเนสซี ได้ใช้วัสดุกระดาษแทนวัสดุพลาสติกและฟอยล์ เพื่อใช้ในการตกแต่งภายในรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากวัสดุกระดาษสามารถรีไซเคิลได้ โดยได้มีการจดสิทธิบัตรวิธีการแปรรูปและการอัดร้อนเซลลูโลสไฟเบอร์เสริมเทอร์โมพลาสติกให้เป็นชิ้นส่วนภายในรถที่ทนทาน

ซึ่งวัสดุผสมที่ทำมากจากกระดาษรีไซเคิลนั้น สามารถเปลี่ยนรูปร่างและขนาดได้ รวมถึงสามารถทำพื้นผิวและทำสีต่าง ๆ ได้ด้วย โดย Volkwagen เผยว่า บริษัทเตรียมใช้วัสดุกระดาษสำหรับการออกแบบภายในรถยนต์ในอนาคต และรองรับการผลิตระดับอุตสาหกรรม

3. ขึ้นรูปส่วนประกอบด้วยวัสดุไฟเบอร์ น้ำหนักเบา

ในปี 2020 นักวิจัยได้ทำประตูท้ายของรถยนต์ Volkswagen Atlas ขึ้นมาใหม่ โดยใช้สารประกอบขึ้นรูปแบบแผ่น สารประกอบนั้นเป็นพลาสติกเสริมด้วยไฟเบอร์กลาส ทำให้ประตูท้ายใหม่นี้มีน้ำหนักเบากว่าโลหะถึง 13 ปอนด์ (ประมาณ 5.89 กก.) ส่งผลให้น้ำหนักรถยนต์ลดลงถึง 35% ช่วยเพิ่มระยะทางการขับขี่ของรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น

Volkswagen เผยในมุมมองด้านการผลิตว่า ประตูท้ายที่ทำจากไฟเบอร์คอมโพสิทไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนลำดับการประกอบเหมือนกับประตูท้ายที่ทำจากโลหะ จึงทำให้สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ซึ่งนักวิจัยได้ปรับปรุงกระบวนการขึ้นรูป หาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพความทนทาน เพิ่มคุณภาพ และหาวิธีการออกแบบที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้กับรถยนต์ในอนาคตต่อไป

4. การชาร์จเร็วแบบไร้สาย

Volkswagen ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบขดลวดและแผ่นชาร์จด้วยวัสดุซิลิกอนคาร์ไบด์ การทดลองชาร์จแบบไร้สายในช่วงแรกนั้น ผู้ผลิตเผยว่าระบบอินเวอร์เตอร์ซิลิกอนคาร์ไบด์ตัวต้นแบบ ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพสูง ด้วยความสามารถในการเพิ่มระดับการชาร์จได้ถึง 120 kW จากเดิม 6.6 kW ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มถึง 300 kW เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จไร้สายได้อย่างรวดเร็ว

และทั้งหมดนี้ก็เป็นความสำเร็จของนวัตกรรมด้านการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าที่ Volkswagen ได้ทำการวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ คาดว่าบริษัทจะนำมาใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต เพื่อพัฒนาวงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ก้าวหน้าขึ้นและเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างแท้จริง

ที่มา electrek

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.