หลังจากที่มีข่าวว่า Apple ได้ล้มเลิกโปรเจคต์ Apple Car แล้ว สื่อต่างประเทศ New York Time ก็ได้ออกมาเผยเบื้องหลังของโปรเจคต์นี้ โดยระบุว่า Apple เคยหารือกับ Elon Musk เพื่อซื้อบริษัท Tesla รวมถึงอธิบายความเป็นมาของโปรเจคต์รถยนต์ไฟฟ้าของ Apple จนถึงจุดสิ้นสุด
สื่อเผย Apple เคยคุยกับ Elon Musk เกี่ยวกับการซื้อ Tesla พร้อมตีแผ่เบื้องหลังของโปรเจคต์ Apple Car ที่เพิ่งปิดตัวลง
เราคงเคยได้ยินเรื่องการซื้อกิจการระหว่าง Apple และ Tesla กันมาหลายปีแล้ว ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคม 2020 ทาง Elon Musk ซีอีโอของ Tesla ยืนยันว่าเขาได้ติดต่อ Tim Cook ซีอีโอของ Apple [อ่านข่าวย้อนหลัง] เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ Apple จะเข้าซื้อกิจการ Tesla ในระหว่างการพัฒนารถ Model 3 แต่ Tim Cook ก็ปฏิเสธที่จะหารือด้วย
6 เดือนต่อมา รายงานจาก Wall Street Journal เผยว่า Tim Cook ได้คุยกับ Elon Musk โดยระบุว่า Apple จะเข้าซื้อกิจการของ Tesla แต่ในช่วงเวลาเดียวกันมีรายงานว่า Elon Musk สนใจข้อเสนอนี้ แต่มีแต่เงื่อนไขเดียวคือ ต้องให้ Elon Musk ทำหน้าที่เป็น CEO ที่ไม่ใช่เฉพาะ Tesla เท่านั้นแต่ควบคุม Apple ทั้งหมดด้วย ต่อมาทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าว
รายงานล่าสุดจาก New York Time ทำให้เรื่องนี้กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ถึงแม้ว่าข้อมูลจะยังไม่มีรายละเอียดมากนัก โดยไม่มีการระบุลำดับเวลาว่าการสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ก็ช่วยให้เราได้ทราบเบื้องหลังของโปรเจคต์ Apple
ข้อมูลเผยว่า Apple ได้หารือกับ Elon Musk เกี่ยวกับการซื้อ Tesla คล้าย ๆ กับรายงานที่ผ่านมา แต่ท้ายที่สุดแล้วการหารือนี้ก็จบด้วยการที่บริษัทตัดสินใจว่าการสร้างรถยนต์เป็นของตนเองนั้นสมเหตุสมผลมากกว่าการซื้อและเข้าไปบูรณาการธุรกิจของคนอื่น
ตั้งแต่เริ่มโครงการรถยนต์ Apple Car หรือเรียกโค้ดเนมว่า Titun บริษัท Apple ก็ประปัญหาหลายอย่าง ทั้งด้านมุมมองของคนภายใน ที่คนหนึ่งอยากจะสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่แข่งขันกับ Tesla ได้ แต่อีกคนหนึ่งก็ต้องการรถยนต์ไร้คนขับ และสมาชิกในทีมพัฒนาก็ยืนยันว่า “ทำได้”
ในขณะนั้น Apple มีเงินสดอยู่ถึง 155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บริษัทได้ลงทุนจ้างทีมงานที่มีประสบการณ์ด้าน Machine Learning ซึ่งเป็น AI ประเภทหนึ่งของเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการผลิตรถยนต์ไร้คนขับ มีผู้คนมากมายสนใจและเข้าร่วมโปรเจคต์นี้ รวมถึงมีการซื้อบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งมาเข้าร่วมทีมพัฒนารถยนต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในทีม โดยมี Kevin Lynch ผู้บริหารเบื้องหลังของ Apple Watch เป็นผู้ดูแลโปรเจคต์นี้
ในรายงานเดียวกันยังเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีที่ Apple วางแผนในช่วงแรกว่ารถยนต์ไฟฟ้าของ Apple นั้นจะไม่มีพวงมาลัย และจะถูกควบคุมโดย Siri ที่เป็นผู้ช่วย AI ของ Apple
Jony Ive และทีมออกแบบของ Apple ได้ออกแบบแนวคิดรถยนต์ที่มีลักษณะเหมือนมินิแวน หน้าตาคล้ายกับ Fiat Multipla 600 ในแนวคิดนี้ ภายในรถไม่มีพวงมาลัย แต่จะใช้การควบคุมผ่าน Siri
มินิแวน Fiat Multipla 600 ที่มา wikipedia
ในปี 2016 โปรเจคต์ก็เริ่มประสบปัญหา เนื่องจากมีการเปลี่ยนทิศทางของโครงการให้ไปโฟกัสการสร้างซอฟต์แวร์ไร้คนขับแทนการสร้างรถยนต์ไฟฟ้า โดย Apple ได้รับใบอนุญาตจากแคลิฟอร์เนียให้เริ่มทดลองขับรถยนต์ Lexus ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์และคอมพิวเตอร์เพื่อทดสอบการขับขี่อัตโนมัติ และบริษัทก็ได้หารือกับผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ เช่น BMW, Nissan และ Mercedes-Benz จนสุดท้ายก็ได้บรรลุข้อตกลงกับ Volkswagen ในการจัดหารถตู้ Transporter สำหรับรับส่งแบบไร้คนขับภายในเขตของ Apple แต่โปรเจคต์รถยนต์ก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก
ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลโปรเจคต์และมีการเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 200 คนในโปรเจคต์นี้ รวมถึงมีการกลับแผนของบริษัทไปสู่แนวคิดเดิมที่จะกลับมาเน้นการสร้างรถยนต์ไฟฟ้า จึงทำให้การดำเนินงานระส่ำระส่ายอยู่เรื่อยมา
จนมาถึงช่วงต้นปีนี้ที่ผู้นำของ Apple ได้ตัดสินใจว่า บริษัทได้ใช้เวลาทำงานกับ Generative AI มากเกินไปแทนที่จะใช้เวลาในการพัฒนารถยนต์ และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาก็ได้แจ้งกับพนักงานในที่ประชุมภายในว่า ให้สมาชิกบางคนของโปรเจกค์รถยนต์ Titan กลับไปทำงานด้าน AI
ทีมงานในโปรเจคต์นี้ต่างชื่นชมการตัดสินใจที่ Apple ปิดโปรเจคต์รถยนต์นี้ โดยให้ความเห็นว่า เทคโนโลยี Generative AI ที่พัฒนามานี้อาจเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับ iPhone ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของบริษัท
ถึงแม้ว่าจะพับเก็บโปรเจคต์นี้แล้ว แต่ Apple มองว่าการพัฒนา Generative AI ในโปรเจคต์ Titun จะไม่สูญเปล่า เนื่องจากบริษัทวางแผนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดมาประยุคต์ใช้กับเทคโนโลยีอื่น ๆ อย่างเช่น AirPods ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ AI และกล้อง, หุ่นยนต์ผู้ช่วยและระบบ AR
หนทางที่ Apple เลือกอาจจะนำไปสู่สุดยอดสินค้าที่ใช้ประโยชน์จาก Generative AI คาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราจะได้เห็นสินค้าใหม่ ๆ สุดเจ๋งจาก Apple ตามแนวทางที่บริษัทถนัด