หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประเทศไทยได้เดินทางไปประชุม UNGA ประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และเข้าพบกับ Elon Musk ซีอีโอของบริษัท Tesla เพื่อหารือด้านธุรกิจภายใต้การควบคุมของ Elon Musk ล่าสุดด้าน EEC ของไทยก็ได้เสนอแพ็กเกจการลงทุตนต่อนกยกรัฐมนตรีแล้ว
EEC เปิดข้อเสนอการลงทุนผลิต EV ยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี ดึง Tesla ตั้งโรงงานในไทย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เผยว่าหลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกชุดใหม่ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้มีการกำหนดเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ สอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับการเจรจากับ Tesla นั้น EEC ได้เสนอแพคเกจลงทุนสูงสุดให้นายกรัฐมนตรีสำหรับการพิจารณา ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี รวมทั้งการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ทั้งอุปกรณ์และชิ้นส่วน การให้วีซ่า ระยะยาวในการพำนักในไทยสูงสุด 10 ปี ทั้งในผู้เชี่ยวชาญระดับสูง ผู้บริหารรวมทั้งผู้ติดตาม และการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Flat rate) เหลือ 17% ขณะที่การคิดค่าเช่าพื้นที่สร้างโรงงานสูงสุด 99 ปี
ในช่วงระหว่างที่มีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุม APEC ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่านายกรัฐมนตรี จะนำแพคเกจลงทุนดังกล่าวหารือเจรจากับ Tesla เพื่อเชิญชวนให้ Tesla เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในประเทศไทย
ในปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยประกอบด้วย
- การอุดหนุนเงินสูงสุดถึง 150,000 บาท สำหรับรถ EV ที่ผลิตลงทุนในประเทศ
- การยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงถึง 13 ปีสำหรับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย
- การยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปและชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในระยะเริ่มต้น
- การลดอัตราภาษีสรรพสามิต
- การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ
- การได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการส่งออกผ่านกรอบข้อตกลง FTAs ซึ่งทำให้การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนจากไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิกเสียภาษีใกล้เคียงศูนย์
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่การเงิน เช่น การเร่งขยายโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายติดติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2573
ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า การเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีประเทศไทยและ Tesla นั้นจะบรรลุข้อตกลงอะไรบ้าง เนื่องจากที่ผ่านมากำลังซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ในประเทศไทยยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศจีน และต้องดูกันต่อว่าการดำเนินงานของ Tesla จะเข้ามาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยหรือไม่
ที่มา bangkokbiznews