ใน

Toyota และ Stellantis ยื่นร้องเรียนกฎการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นจาก EPA ที่ระบุให้ยอดขายรถยนต์ EV เป็น 60% ในปี 2030

Toyota และ Stellantis สองผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ว่าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (U.S Environmental Protection Agency: EPA) ที่ออกมากำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในปี 2027 – 2030 นั้นส่งเสริมการขายได้ไม่สมจริง

Toyota และ Stellantis ยื่นร้องเรียนกฎการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดขึ้นจาก EPA ที่ระบุให้ยอดขายรถยนต์ EV เป็น 60% ในปี 2030

EPA ได้กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติอากาศสะอาด (Clean Air Act) โดยปรับปรุงตามนโยบายของประธานาธิบดี Biden ที่ต้องการให้ยอดขายรถยนต์ใหม่ 50% เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2030 เพื่อลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

EPA ระบุว่า ภาคขนส่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา คิดเป็น 27.2%  โดยยานพาหนะทั่วไปปล่อยมลพิษมากที่สุด อยู่ที่ 57.1% ของภาคการขนส่ง และคิดเป็น 15.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปล่อยมลพิษเป็น 0 และสามารถลดการปล่อยมลพิษได้ค่อนข้างมาก จึงทำให้ฝ่ายบริหารรัฐบาลร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับ เพื่อจัดหาเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีการลงทุนด้านการผลิตแบตเตอรี่มูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และสนับสนุนอีก 3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อขยายโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีก 70 แห่ง

ข้อมูลจาก EPA เผยว่า กฎการปล่อยมลพิษใหม่คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะสูงถึงประมาณ 60% ภายในปี 2030 และจะสูงขึ้นเป็น 67% ในปี 2032 ส่งผลให้ลดการปล่อยมลพิษได้เกือบ 1 หมื่นล้านตัน

จากกฎใหม่นี้ ทำให้ค่ายรถยนต์ใหญ่ที่ยังคงตามหลังด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่าง Toyota และ Stellantis ได้ออกมาให้ความเห็นว่า มาตรฐานการปล่อยมลพิษแบบ Multi-Pollutant ที่เสนอโดย EPA นั้นส่งเสริมการขายได้ไม่สมจริง

โดย Totoya เผยว่า EPA ประเมินความท้ายทายที่สำคัญต่ำเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากแร่ธาตุเหล่านี้ไม่ได้ถูกขุดในสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และต้นทุนที่สูงของรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่

ซึ่ง Totoya ยืนกรานว่าจะยึดมั่นแนวทางแบบ “Multi-Pathway” ที่ผลิตทั้งรถยนต์ไฮบริด (HEV) และรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ทำให้ผู้ถือหุ้นแสดงความกังวลต่อบริษัทที่ยังคงตามหลังผู้นำรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla

ทางด้านของค่ายรถยนต์ Stellantis ที่เป็นบริษัทเบื้องหลังของ Ram, Jeep, Dodge, Chrysler, Fiat และอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เลยนั้น เผยว่า แผนของ EPA ดูเกินจริงสำหรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยบริษัทแย้งว่า อัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังห่างจากการกำหนดนโยบายอยู่มาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานท่ามกลางการคาดการณ์ที่อาจจะเป็นจริงหรือไม่จริง

ปัจจุบัน Toyota ที่ถือว่าเป็นค่ายรถยนต์ใหญ่ ยังคงมีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพียง 2 รุ่นเท่านั้น ได้แก่ bZ4X และ Lexus RZ 450e ซึ่งแผนรถยนต์ไฟฟ้าของ Toyota นั้นยังอีกยาวไกลหากเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ส่วน Stellantis ก็กำลังจะเริ่มวางขายรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก 2025 RAM 1500 REV ในปลายปีนี้ พร้อมกับเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกภายใต้แบรนด์ Jeep ได้แก่ รุ่น Recon และ Wagoneer S

การออกกฎใหม่ที่เร่งรัดอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกามากขึ้นนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อ Totoya และ Stellantis ด้านการผลิตถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ยังคงตามหลังแบรนด์อื่น ๆ ในตลาดปัจจุบัน ด้วยการกำหนดส่วนแบ่งการตลาดถึง 60% ในปี 2030 นั้น ทั้งสองบริษัทอาจจะมีความกังวลว่าจะไม่ทัน จึงทำให้มีการยื่นร้องเรียนนี้เกิดขึ้น

ที่มา electrek

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.