ใน

บทวิเคราะห์ “ทำไมคนส่วนใหญ่มอง Toyota จะซ้ำรอย Nokia ในยุครถยนต์ไฟฟ้า (EV)”

ปัจจุบันเราคงได้เห็นการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์ใหม่ ๆ ที่มาพร้อมดีไซน์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์จีน แต่เมื่อพูดถึง Toyota แล้วส่วนใหญ่ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Toyota ยังล้าหลังในเรื่องขอรถยนต์ไฟฟ้า และถูกเปรียบเทียบกับการล่มสลายของ Nokia เรามาชมวิเคราะห์กันว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

บทวิเคราะห์ ทำไมคนส่วนใหญ่มอง Toyota จะซ้ำรอย Nokia ในยุครถยนต์ไฟฟ้า (EV)

สำหรับคนที่เกิดก่อนยุค 90 คนจะได้เห็นความรุ่งเรืองของ Nokia กันอยู่แล้ว Nokia เป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือยี่ห้อที่ดังที่ติดอันดับผู้ผลิตโทรศัพท์อันดับหนึ่งของโลกในปี 1998 และนับตั้งแต่นั้นเป็นก็ครองตำแหน่งราคามือถือโลกเกือบ 20 ปี โดยรุ่นยอดนิยมอย่าง 3310 มือถือสุดทน เปลี่ยนกรอบ โหลดริงโทนกันสนุกสนานเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในยุค 2G จากหน้าจอขาวดำก็มาสู่ยุคของหน้าจอสี Nokia ก็ยังคงเป็นโทรศัพท์ที่ขายดี พูดได้ว่าเป็นยุคทองของ Nokia เลยทีเดียว

จนถึงปี 2007 จุดเริ่มต้นของ Nokia ก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อยุค 3G กำลังเข้ามาและโทรศัพท์มือถือ Android และ iPhone ก็เริ่มเข้ามาด้วย Nokia ทราบดีว่าโทรศัพท์ต้องถึงจุดเปลี่ยน บริษัทจึงแบ่งทีมพัฒนาเป็น 2 ทีม โดยทีมหนึ่งเป็นทีมปรับปรุงระบบปฏิบัติการ Symbian และอีกทีมหนึ่งสร้างปฏิบัติการใหม่ชื่อว่า MeeGo ทั้งสองทีมแข่งขันกัน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งภายในองค์กร และทำให้การตัดสินใจภายในล่าช้า

ระหว่างนั้น Nokia ยังคงดึงดันพัฒนาระบบปฏิบัติการของตนเองต่อไปโดยใช้งบประมาณถึง 5 พันล้านเหรียญดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ต่างก็ใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็น Opensource อย่าง Android มาพัฒนาในสมาร์ตโฟนของตน รวมถึง iPhone จาก Apple ก็เริ่มได้รับความสนใจและค่อนข้างดูไฮเทคในสมัยนั้น จนในที่สุดตลาดก็ถูกครอบงำด้วยสมาร์ตโฟน Android และ iPhone

ในมุมมองของคนทั่วไปในขณะนั้น Nokia เป็นแบรนด์ที่มีความล้าหลังมาก ซึ่ง Nokia เกือบล้มละลายในปี 2007 จึงได้ขายแบรนด์ให้กับ Microsoft และนำเงินที่ขายธุรกิจมาลงทุนเอาตัวรอดให้บริการอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมให้กับริษัทต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน

ภาพจาก thaimobilecenter

สื่อต่าง ๆ ได้สัมภาษณ์อดีตพนักงานของ Nokia เผยว่า Nokia เป็นเหยื่อของความสำเร็จของตนเอง เพราะผู้บริหารระดับนโยบายหลงตัวเอง และคิดว่าความสำเร็จที่ผ่านมาอยู่สูงเกินกว่าที่คู่แข่งจะโค่นล้มได้ ถึงแม้ว่าจะมีพนักงานหลายคนเสนอความคิดใหม่ ๆ แต่ก็ถูกผู้บริหารตีตกไป พอวางแผนจะได้แก้ไขก็กลับช้าเกินไปเสียแล้ว จนทำให้คู่แข่งพัฒนาก้าวล้ำไปจนบริษัทตามไม่ทัน

ภาพจาก passionateinmarketing

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจแบรนด์ใหญ่ที่เคยเป็นเจ้าตลาด แต่กลับต้องมาล่มสลาย อย่างเช่น บริษัท Kodak ที่เป็นผู้ผลิตฟิล์มอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ต้องมาติดกับดักการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงจากกล้องฟิล์มไปเป็นกล้องดิจิทัล จึงทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับแบรนด์คู่แข่งที่พัฒนาเทคโนโลยีกล้องดิจิทัลไปไกลเกินกว่าที่ Kodak จะปรับตัวแข่งขันให้ทัน และในที่สุด Kodak จึงขายสิทธิบัติมากมายให้กับบริษัทเทคโนโลยีรุ่นหลัง เช่น Apple, Facebook, Amazon และ Samsung

ภาพจาก scashwin

ส่วนอีกหนึ่งตัวอย่างเป็นวงการของการเช่าวิดีโอ Blockbuster ที่เป็นร้านเช่าวิดีโอมีสาขามากกว่า 9,000 สาขาทั่วโลก แต่ก็ถูกโค่นด้วย Netflix ที่มองเห็น Pain Point ด้านความยุ่งยากของขั้นตอนการเช่าและการเก็บค่าปรับ จึงได้ใช้เทคโนโลยีที่มาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจาก YouTube ให้ลูกค้าสามารถรับชมคอนเทนต์แบบออนไลน์ ในปี 2004 Netflix ทำรายได้มากกว่า 500 ล้านดดอลาร์ จนในที่สุดตั้งแต่ปี 2005 Blockbuster ก็เริ่มปิดสาขาในปลายประเทศ จนประกาศล้มละลายในปี 2010

ทำไมแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่ Toyota ถูกเปรียบเทียบกับ Nokia, Kodak และ Blockbuster

จากที่เราได้อ่านบทเรียนของบริษัท 3 ยักษ์ใหญ่ในอดีตกันไปแล้ว ก็พอจะเห็นภาพได้ว่าบริษัทเหล่านี้ยึดติดกับความสำเร็จของตนเอง จนปิดกั้นการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงให้ทันตามเทรนด์ในอนาคต

ในยุคของของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คนก็มองเห็นอะไรบางอย่างที่คล้ายกันใน Toyota เช่นกัน ถึงแม้ว่าในปี 2022 บริษัทจะทำยอดขายได้ถึง 10.5 ล้านคัน แต่ทว่าในขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องพบการการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้าจากหลากหลายแบรนด์ ทั้งที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตเก่าและใหม่

Tesla Roadster

ในปี 2010 Elon Musk ได้พบกับ Akio Toyoda ผู้ก่อตั้ง Toyota Motor เพื่อหารือเกี่ยวกับการผลิรถยนต์​ Tesla ให้ได้จำนวนมาก ซึ่ง Elon Musk ได้ส่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Roadster ให้ทดลองใช้ ทางฝั่งของ Toyota ประทับใจมาก และตกลงซื้อหุ้น 50 ล้านดอลลาร์ 2.4% ของ Tesla เพื่อร่วมลงทุน พร้อมกับให้ดัดแปลงโรงงาน Toyota ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น RAV4

Toyota RAV4

แต่ในขณะนั้นที่เป็นยุคบุกเบิก Tesla รถยนต์รุ่น RAV4 พบกับปัญหามากมาย เนื่องจาก Tesla แก้ปัญหาด้านความเสถียรภาพของแบตเตอรี่ไม่ได้ ประกอบกับบรรดาผู้อาวุโสของ Toyota Motor ฟันธงว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่มีอนาคตอย่างแน่นอน ทำให้ Toyota ยุติความร่วมกับกับ Tesla โดยขายหุ้นทั้งหมด

หลังจากที่แยกทางกันแล้ว Toyota จึงมีความแค้นและฝังความคิดการต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าไว้ในหัวและเป็นฝ่ายตรงข้ามรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนาย Akio Toyoda ได้โจมตีรถยนต์ไฟฟ้ามาโดยตลอด โดยบอกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นแค่การปั่นกระแส ไม่ได้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และถ้าหากรถยนต์ในญี่ปุ่นเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดจะทำให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า

Toyota Mirai

นอกจากนี้ Toyota ยังหันไปให้ความสำคัญกับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen vehicle) ที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ในรถยนต์ได้ โดยเปิดตัวรถรุ่น Mirai เปิดขายในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมและไม่ได้เป็นกระแสเหมือนกับรถยนต์ไฟฟ้า

แต่เมื่อในช่วงหลัง ๆ รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงผู้ใช้ Toyota ก็อ้างว่า คนในวงการรถยนต์สงวนท่าทีต่อรถยนต์ไฟฟ้า แต่สาเหตุที่แท้จริงที่คนในวงการรถญี่ปุ่นยังไม่เคลื่อนไหวนั้น เนื่องจากรู้ดีว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นกระแสที่มาจริง แต่ไม่อยากจะงัดข้อกับ Toyota ที่เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่น

Lexus RZ

ถึงแม้ว่ารถยนต์ที่ขายดีที่สุดในโลกยังคงมี Toyota เป็นแชมป์อยู่ แต่ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้านั้น เห็นได้ชัดเจนว่ารถยนต์จากแบรนด์ตะวันตกและแบรนด์จีนได้วิ่งนำไปไกลแล้ว ในขณะที่ Toyota นั้นได้ออกมาประกาศแผนของรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเจนเนอเรชันใหม่ ที่มาพร้อมแบตเตอรี่ทรงประสิทธิภาพ Solid State ที่สามารถทำระยะทางได้ไกลกว่า 1,000 กม. ใช้เวลาชาร์จน้อย และวางแผนการผลิตแบบ Giga ที่ผลิตได้อย่างรวดเร็ว แต่กำหนดการของแผนเหล่านี้ก็เริ่มปี 2027-2028 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็อาจจะล่าช้าไปแล้วสำหรับ Toyota

Toyota bZ4

และในขณะที่แบรนด์รถยนต์อื่น ๆ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจมากมาย หลากหลายเซกเมนต์ หลากหลายรุ่น แต่ Toyota ยังคงมีเพียงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเดียวที่เปิดตัวใน 2 แบรนด์ คือ Toyota bZ4 และ Lexus RZ ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีนั้นยังคงด้อยกว่าคู่แข่งในปัจจุบัน ส่วนรุ่นอื่น ๆ นั้นยังคงออกมาในรูปแบบของรถยนต์แนวคิด (Concept) ทั้ง ๆ แบรนด์อื่น ๆ  วางจำหน่ายรถยนต์วิ่งบนถนนและเตรียมแผนการสำหรับบำรุงรักษาแล้ว (Maintanance)

ก็ต้องรอติดตามความเคลื่อนไหวของ Toyota กันต่อไปว่า บริษัทจะสามารถเร่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้ทันต่อแบรนด์อื่น ๆ ได้หรือไม่ เนื่องจาก Toyota ก็พยายามปรับเปลี่ยนโดยเริ่มจากการเปลี่ยนผู้บริหารใหญ่ วางแผนและประกาศแผนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าระยะยาวที่ค่อนข้างน่าสนใจ แต่ก็ต้องดูอีกทีว่าถึงตอนนั้นแล้วคู่แข่งจะพัฒนาเทคโนโลยีได้เหนือกว่าหรือไม่

ความเคลื่อนไหวรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รถยนต์ไฟฟ้าจากแบรนด์จีนนั้นเข้ามาขับเคลื่อนความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากข้อมูลในเดือนตุลาคม 2023 ที่แบรนด์ BYD ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าซีดานรุ่น Seal ด้วยราคาใกล้เคียงกับรถยนต์ D-Segment ของแบรนด์อื่น เพียงเปิดจองวันแรก ก็ทำยอดจองมากถึง 1,289 คัน ชนะยอดขายรายเดือนของรถเซกเมนต์เดียวกันอย่าง Toyota Camry และ Honda Accord รวมกันทิ้งห่างขาดลอย

รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์อื่น ๆ ก็ได้รับความนิยมและเป็นที่สนใจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Tesla Model Y, Tesla Model 3, ORA Goodcat, NETA V, BYD ATTO 3, AION Y Plus รวมถึงมีรถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ  จ่อเปิดตัวในไทยอีกมากมาย อย่างเช่น Changan ที่มีคนเฝ้ารอการเปิดตัวและประกาศราคาในไทยช่วงปลายปีนี้ และในงาน Motor Expo 2023 ก็น่าจะมีการเผยโฉมรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ ๆ อีกมากมาย เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดไทยในปี 2024

และเมื่อคาดการณ์ไปถึงปี 2024 นี้ ก็คาดว่าเราจะเริ่มเห็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่น ๆ  มากขึ้น เช่น รถกระบะไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ที่เตรียมจะเข้ามาทำการตลาดจริงจังในประเทศไทย (เมื่อไม่นานมานี้ Toyota ก็มีแผนจะทดสอบกระบะไฟฟ้า Hilux ในไทยด้วย แต่ไม่มีข้อมูลว่าจะวางจำหน่ายเมื่อไหร่ ส่วน Izusu ก็ประกาศแผนการผลิตกระบะไฟฟ้าในไทย แต่อาจจะไม่ได้ขายในไทยเป็นที่แรก ส่วนแบรนด์จีนอย่าง BYD นั้นก็เริ่มมีภาพหลุดกระบะไฟฟ้าออกมาให้เห็นแล้ว คาดว่าวางแผนขายในไทยด้วย)

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายก็เริ่มทยอยเข้ามาเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยแล้ว เพื่อตั้งเป็นฐานการผลิตในประเทศและส่งออกในยังภูมิภาคอาเซียน

เราคงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามากินส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ทั้งหมด แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นระยะยาวหลังจากนี้คาดว่า รถยนต์น้ำมันจะมียอดขายลดลงไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้น ในขณะเดียวกันรถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีการพัฒนาความสามารถให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เพิ่มยอดขายได้มากขึ้น ในทางกลับกันก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง จึงทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเทียบเท่าหรือถูกว่ารถยนต์น้ำมันได้เร็วขึ้น

เมื่อแนวโน้มด้านการขายน้ำมันลดลงแล้ว แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องระยะยาว โดยเฉพาะธุรกิจปั๊มน้ำมันที่จะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ  บวกกับราคาน้ำมันจะแพงขึ้น ในขณะที่ธุรกิจการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเฟื่องฟูขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันบริษัทปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่ฝั่งยุโรปก็เริ่มวางแผนซื้อเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากันแล้ว และในประเทศจีน Shell ก็จับมือ BYD เปิดบริการสถานีรถยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงมาสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว

ขอเริ่มอธิบายการเปลี่ยนผ่านของรถยนต์คร่าว ๆ ก่อน เดิมทีรถยนต์ส่วนใหญ่ในโลกที่ใช้กันนั้นเป็นรถยนต์น้ำมันเครื่องยนต์สันดาป (ICE) และกำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ก็มีรถยนต์ที่ผสมผสานระหว่างรถยนต์น้ำมันกับไฟฟ้าเข้าด้วยกันอย่าง Hybird ด้วย

ซึ่งในปัจจุบันนั้น รถยนต์ไฟฟ้า ประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีที่สุด และค่าบำรุงรักษาก็มีแนวโน้มประหยัดว่ารถยนต์น้ำมัน เนื่องจากรถยนต์น้ำมันมีส่วนประกอบในการขับเคลื่อนมากกว่า 2,000 ชิ้น ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนประกอบในการขับเคลื่อนเพียง 18 ชิ้น

นอกจากนี้ ในด้านของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รถยนต์น้ำมันที่วิ่ง 1 กม. สร้างคาร์บอนได้ออกไซด์ 186 กรัม ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าวิ่ง 1 กม. สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 22.6 กรัม หมายความว่า รถยนต์ไฟฟ้าปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์น้ำมันได้ค่อนข้างมาก

ส่วนรถยนต์ Hybrid ที่เป็นการรวม 2 ระบบมาทำงานด้วยกัน แน่นอนว่าต้นทุนในการพัฒนาและผลิตแพงกว่ารถยนต์น้ำมันและรถยนต์ไฟฟ้า และประสิทธิภาพก็สู้กับรถยนต์ไฟฟ้าล้วนไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้คนเปลี่ยนแปลงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วขึ้น เช่น การประกาศของสหภาพยุโรปที่ลงมติห้ามขายรถยนต์น้ำมัน อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป ค่ายรถยุโรปทุกค่ายหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศนอร์เวย์และสวีเดนอาจจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่ไม่มีการใช้รถน้ำมันในเร็ว ๆ นี้

ส่วนประเทศจีนก็มีหลากหลายแบรนด์ทั้งแบรนด์เก่าและแบรนด์เกิดใหม่แข่งขันการพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในคนในประเทศใช้ ซึ่งคนในประเทศจีนก็หันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงมีการขยายส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ จนทำให้โรงงานรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นต้องหยุดชะงักการผลิตหลายแบรนด์

นอกจากนี้ ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีไฟฟ้าที่มี Tesla เป็นผู้นำนั้น ส่งผลให้แบรนด์อื่น ๆ พัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่ม Option ต่าง ๆ แบบจัดเต็มในรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในราคาที่เอื้อมถึงได้ จึงทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น

แน่นอนว่าสงครามของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะยังดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และรวดเร็วกว่าที่คิด ต้องรอติดตามกันต่อไปว่า แบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นจะต่อสู้ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้หรือไม่ และแบรนด์รถยนต์ยอดขายอันดับ 1 อย่าง Toyota จะรักษาแชมป์ได้ถึงเมื่อไหร่ หรืออาจจะซ้ำรอยเหมือนกับ Nokia และ Kodak

เรียบเรียงโดย EVMoD อ่านข้อมูลเต็ม ๆ  ได้ที่ Facebook: โตนไพร ณชายคลอง

แสดงความคิดเห็น

เขียนโดย Sakura P.